โรคกรดไหลย้อน ( gastroesophageal reflux disease: GERD ) คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหาร เป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยปกติหลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงด้านล่าง หูรูดทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อยหรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร
แต่ในปัจจุบัน หูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลงในบางคน ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาณ 1 ใน 5 คนพบในคนทั่วไป ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงผู้ใหญ่
สาเหตุ
1.ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร มีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ อาจเกิดจากการดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืด
2.ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานเคลื่อนตัวลงช้า หรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร ค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
3.ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ส่งผลให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ จะเพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรด จากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น
ข้อควรระมัดระวัง อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลต มีผลให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง เพิ่มโอกาสเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น
อาการ
1.อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย
2.มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก มักมีอาการเรอ และมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จนทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหารขึ้น ได้แก่หลอดอาหารอักเสบจนมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติดกลืนลำบาก
3.ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
4.เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ
5.หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบเจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
7 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้เป็นกรดไหลย้อน
1.มะเขือเทศ อุดมไปด้วยกรดซิตริก ( citric acid ) และกรดมาลิก ( malic acid ) มะเขือเทศรวมทั้งซอส ซุป น้ำผลไม้ สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถทำให้ระบบทางเดินอาหารผลิตกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เมื่อมีกรดปริมาณมากขึ้น จะถูกบังคับให้ไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร งานเข้าไม่รู้ตัวค่ะ
2.ผลไม้ประเภทส้ม จะเต็มไปด้วยกรดซิตริก ( citric acid )งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Rhinology Laryngology แสดงให้เห็นว่าการจำกัดปริมาณของกรดในอาหาร สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ เช่น ไอกระแอม เสียงแหบ
3.หัวหอม มีส่วนทำให้ความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้มีการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนผิดปกติ ยกเว้นหัวหอมถูกปรุงสุก จึงจะไม่มีผลกระทบในการเพิ่มความเป็นกรดได้
4.น้ำอัดลม กรดคาร์บอนิกในภาชนะบรรจุ เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง เมื่อสัมผัสอากาศ จะแยกตัวออกเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ เป็นฟองที่เกิดขึ้นเวลาเปิดขวดหรือกระป๋อง สามารถเพิ่มความดันในกระเพาะอาหาร โดยฟองอากาศจะเริ่มยืดขยายเหมือนลูกโป่งและบังคับให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารเปิด กรดหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารจึงพร้อมไหลย้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง
5.แอลกอฮอล์ มีส่วนทำให้กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นลงในหลอดอาหารส่งผลให้รู้สึกแสบร้อนในลำคอ
6.อาหารที่เต็มไปด้วยไขมันสูงเช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมันหมูสามชั้น จะใช้เวลาย่อยในกระเพาะอาหารนานกว่าอาหารประเภทอื่น ก่อให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมีมากขึ้น จนเบียดหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้
7.กาแฟ ตามการศึกษาหนึ่งในเยอรมัน พบว่า คาเฟอีนในกาแฟ ส่งผลให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการกรดไหลย้อน แต่คาเฟอีนในชา ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
ที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น