บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประโยชน์ล้นเหลือของวิตามินดีที่เราอาจลืม

คนไทยเรามีความโชคดีอย่างหนึ่งคือ ด้วยสภาพภูมิประเทศอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรอากาศจึงร้อนระอุทะลุปรอทในฤดูร้อน บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา มีแสงแดดทุกฤดู วิตามินดีหรือเรียกว่า ‘’วิตามินแดด’’จึงมีตลอดทั้งปี


ไม่เหมือนต่างประเทศโดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวียที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว  ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียประกอบไปด้วย สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่น  ในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ประเทศไอซ์แลนด์ และประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีฤดูร้อนเพียง 3 เดือน เริ่มต้นประมาณเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม อากาศดีเหมาะแก่การทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีกลางวันยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง 


ช่วงเริ่มต้นฤดูร้อน ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 04.30 .และตกเวลา 22.50 . สำหรับเมืองที่อยู่สูงกว่า arctic circle(คือวงกลมละติจูดที่อยู่เหนือที่สุด ในบรรดา 5 วงกลมละติจูดหลักบนแผนที่โลก พื้นในในบริเวณนี้เรียกว่าอาร์กติกด้านเหนือสุดของวงกลม มีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือของฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ทำให้สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางคืน และมีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละครั้ง ทำให้ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางวัน ปรากฏการณ์เกิดขึ้นที่ขั้วโลกใต้เช่นกัน)จะมองเห็นพระอาทิตย์ตลอด 24 ชม หรือที่เรียกกันว่า Midnight Sun (พระอาทิตย์เที่ยงคืน


ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องพลเมืองขาดวิตามินดี ผลการศึกษาใหม่(.2015)จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซาห์ลเกรนสกา พบว่า ประชากรสวีเดนมากถึงครึ่งหนึ่งอาจประสบปัญหาการขาดวิตามินดีในช่วงฤดูหนาว


นักวิจัยในโกเธนเบิร์กได้ศึกษาระดับวิตามินดีในแต่ละฤดูกาลของผู้บริจาคโลหิต 550 ราย และพบว่าในช่วงฤดูหนาว มากถึงครึ่งหนึ่งมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ 


คนเหล่านี้เป็นคนที่มีสุขภาพดีซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาระดับวิตามินดีต่ำ


การขาดวิตามินดี อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและไม่มีพลังงาน และบางครั้งก็หดหู่ เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อความสมดุลของแคลเซียม สุขภาพกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน 


ผลการศึกษาล่าสุดยังแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีกับโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคMS(Multiple Sclerosis)โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ได้ด้วยการกินวิตามินดีหรือไม่


แหล่งวิตามินดีที่สำคัญที่สุดมาจากร่างกาย ซึ่งผิวที่สัมผัสกับแสง UVB จากแสงแดดซึ่งจะผลิตวิตามินได้เอง แต่ปัญหาสำหรับพลเมืองในภาคเหนือคือ รังสี UVB อ่อนเกินไปและอยู่ไกลเกินไประหว่างฤดูหนาว


พอถึงฤดูใบไม้ผลิ หลังจากที่แสงอาทิตย์กลับมา ก็ยังไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อระดับวิตามินดีของประชากรมากนัก เนื่องจากรังสี UVB นั้นไม่แรงพอ แม้แต่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยจะต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานพอสมควรสำหรับการผลิตวิตามินดี


วิตามินดีที่เป็นอาหารเสริมสกัดจากน้ำมันตับปลาและลาโนลิน(Lanolin) ซึ่งเป็นขี้ผึ้งจากสัตว์ที่ได้จากการย่อยขนแกะ จัดเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ 

1.ergocalciferol พบในยีสต์

2.cholecalciferol พบได้ในน้ำมันตับปลา ไข่แดง 


วิตามินดีสังเคราะห์ได้ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมสามารถพบวิตามินดีได้ทั้งสองชนิด ได้รับจากอาหารหรือแสงแดด

รังสียูวีจากแสงแดดจะทำปฏิยากับน้ำมันที่ผิวหนัง ก่อให้เกิดการสร้างวิตามินซึ่งจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย วิตามินดีที่เรารับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมพร้อมไขมันผ่านผนังลำไส้


วิตามินดี 2 หรือ เออโกแคลซิเฟอรอล (Vitamin D2;Ergocalciferol) วิตามินดีชนิดนี้ได้มาจากพืชและยีสต์ สำหรับวิตามิน D2 ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น

            

วิตามินดี 3 หรือ โคเลแคลซิเฟอรอล (Vitamin D3;Cholecalciferol) เป็นชนิดที่ได้มาจากสัตว์ และจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังของคนเรา โดยเมื่อผิวหนังของเราได้รับแสงแดดที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเลตบี ซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้น รังสีจะถูกดูดซับและกระจายตัวอยู่บนผิวหนังชั้นบน แล้วผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นวิตามินดี 3 อย่างรวดเร็ว

            

วิตามินทั้ง 2 แบบจะสะสมในร่างกายในรูป แคลซิไดออล (Calcidiol) คือ 25(OH) vitamin D2 กับ 25(OH) vitamin D3 ซึ่งเป็นรูปแบบของวิตามินดี ที่ยังไม่ออกฤทธิ์ ใช้บอกระดับวิตามินดีที่สะสมในร่างกายนั่นเอง


วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง  ในร่างกาย  เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน


นอกจากนี้ยังส่งเสริมการนำกระแสกระตุ้นผ่านเส้นใยประสาทและกล้ามเนื้อ เพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาระดับฟอสฟอรัสในเลือด และมีส่วนร่วมในการควบคุมความดันโลหิต  วิตามินดียังจำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของไตและต่อมไทรอยด์  การขาดวิตามินในร่างกายนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและไมเกรน


หมอกควันพิษในอากาศส่งผลให้แสงอาทิตย์กระตุ้นการสร้างวิตามินดีได้น้อยลง หากตากแดดจนผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนแล้ว

การสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังจะหยุดลง


มีประโยชน์อย่างไร

1.วิตามินดีมีบทบาทในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในลำไส้เล็ก ซึ่งจำเป็นต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

2.เมื่อรับประทานร่วมกับวิตามินเอและซี อาจจะช่วยในการป้องกันโรคหวัดได้

3.อาจช่วยในการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ

4.ช่วยในการดูดซึมของวิตามินเอ

5.เพิ่มระดับพลังงาน

6.วิตามินดีมีบทบาทในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไป วิตามินดีจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ปรับตัวลดลงด้วยฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส และต้านการอักเสบ ความบกพร่องเชื่อมโยงกับความเสี่ยงหรือความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นรวมถึง HIV และ COVID-19 ระดับวิตามินดีที่ลดลงดูเหมือนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับวัณโรค

7.อาจช่วยให้อารมณ์คงที่

8.ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท  ปอดและทางเดินหายใจ

9.อาจช่วยให้นอนหลับได้ดี

10.อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง (osteopenia) และกระดูกพรุน (osteoporosis) แม้ว่าผลกระทบของโรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกเรื้อรัง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ระดับวิตามินดีที่ลดลงในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังหรือการเสริมวิตามินดีนั้นช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกที่ไม่เฉพาะเจาะจงเรื้อรัง

11.ขัดขวางการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ซึ่งดูดซับเนื้อเยื่อกระดูกกลับคืนมา ทำให้กระดูกบางและอ่อนแอลง มีผลให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกหักได้ง่าย

12.วิตามินดีช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) มากขึ้น มีผลช่วยลดความเครียด (Stress) และภาวะซึมเศร้า (Depression) 


มีบทความวิชาการจาก   รศ.ดร.ภญจิรภรณ์ อังวิทยาธร  ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเอาไว้ว่า การศึกษาวิจัยหลายชิ้นค้นพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับวิตามินดี (วัดจากระดับ 25-hydroxy vitamin D3 ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่า วิตามินดีในกระแสเลือดกับภาวะซีมเศร้า โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะแสดงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ


ความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อวิตามินดีมีระดับต่ำลงมาก กลไกที่ทำให้วิตามินดีมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า

ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า สมองส่วน hypothalamus มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยผ่านกลไกของ vitamin D receptor ในร่างกายของมนุษย์จะพบ vitamin D receptor มากในส่วน hypothalamus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาท (neuroendocrine system)


วิตามินดีในร่างกายคนเรา มีค่าปกติในระดับสูงกว่า 30 ng/mL ถ้าต่ำกว่า 20 ng/mL จัดอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป


แหล่งอาหารจากธรรมชาติ

น้ำมันตับปลา(น้ำมันตับปลาค็อดเป็นแหล่งของวิตามินดีที่สูงมาก ใน 1 ช้อนโต๊ะ มีวิตามินดีมากถึง 1,360 IU )ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน(ปลาแซลมอนสุก 3 ออนซ์ (85 g) มีวิตามินดีมากถึง 447 IU) ปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มมักมีวิตามินดีเพียงหนึ่งในสามที่พบในปลาแซลมอนธรรมชาติ,ปลาทูน่า(ทูน่ากระป๋อง 3 ออนซ์ (85 g) มีวิตามินดี154 IU)นมและผลิตภัณฑ์จากนม


หากรับประทานวิตามินดีวันละ 20000 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

หากรับประทานมากกว่า 1800 IU ต่อวัน อาจทำให้เกิดภาวะวิตามินดีเกินในเด็ก


อาการที่บ่งว่ามีวิตามินดีมากเกินไป ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดกระหายน้ำมากผิดปกติ เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บตา คันตามผิวหนัง อาเจียน ท้องร่วง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีหินปูนแคลเซี่ยมสะสมที่ผนังหลอดเลือด ตับ ปอด ไตและกระเพาะอาหาร


ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีมลพิษควันดำหนาแน่นควรรับประทานวิตามินดีเพิ่มขึ้น ผู้ที่ทำงานกะกลางคืนและผู้ที่ไม่ค่อยได้ตากแดด ควรรับประทานวิตามินบีเพิ่ม หากกำลังรับประทานยากันชัก ควรต้องรับประทานวิตามินดีเพิ่ม


จากการวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ใน Bangkok Medical Journal ปี 2015 เก็บข้อมูลพนักงานออฟฟิศ 211 แห่งทั่วกรุงเทพ พบว่า 36.5% หรือทุก 1 ใน 3 คนของพนักงานออฟฟิศขาดวิตามินดี นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดีมากกว่าคนทั่วไป เช่นคนที่มีผิวสีเข้ม (Dark – Colored Skin) ผู้สูงอายุ (Elderly Patients) ผู้ป่วยโรคไต(Kidney Diseases) ผู้ป่วยโรคตับ (Liver Diseases) และคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน(Obese Patients)


เด็กและวัยรุ่นที่ยังไม่ได้ดื่มนมที่มีวิตามินดีอย่างน้อย 500 ซีซีต่อวันควรรับประทานอาหารอื่นที่มีวิตามินดีสูง หรือรับประทานวิตามินรวม ที่มีวิตามินดีรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 200 IU


คนผิวเข้มที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือหรือบริเวณที่มีแดดน้อยควรรับประทานวิตามินดีเพิ่ม(คนผิวคล้ำมีประสิทธิภาพในการผลิตวิตามินดีน้อยกว่าเนื่องจากเมลานินในผิวหนังขัดขวางการสังเคราะห์วิตามินดี การขาดวิตามินดีเป็นเรื่องปกติในชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกและแอฟริกัน-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา โดยจะมีระดับลดลงอย่างมากในฤดูหนาว เป็นเพราะระดับของเมลานินในผิวหนัง เนื่องจากทำหน้าที่เป็นสารปกป้องตามธรรมชาติจากแสงแดด) 


หากอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการมีวิตามินดีในร่างกายต่ำ การศึกษาพบว่าการเสริมด้วย 800 IU หรือมากกว่าทุกวันสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ค่อนข้างดีในการป้องกันการแตกหักของกระดูกสะโพกและการแตกหักแบบไม่ใช้กระดูกสันหลัง


สามารถตากแดดโดยไม่ทาครีมกันแดดเพื่อรับวิตามินดีได้

แต่อย่าลืมที่จะปกป้องผิวด้วยการจำกัดเวลาในการออกแดดให้เหมาะสม


อย่าให้สุนัขหรือแมวรับประทานรับประทานวิตามินดีเสริม ยกเว้นสัตวแพทย์แนะนำ


วิตามินดีทำงานร่วมกับวิตามินเอ ซีและโคลีน


ส่วนใหญ่หรือแทบทุกคน จะตรวจระดับวิตามินดีก่อนรับประทานอาหารเสริม


ราคาค่าตรวจในเมืองไทยแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น รพ.พญาไทนอกจากตรวจระดับวิตามินดียังเพิ่มการตรวจความหนาแน่นของกระดูก ช่วงนี้มีโปรโมชั่น ปกติ 7000 บาทลดเหลือ 3000 บาท,รพ.เกษมราฎร์ รามคำแหง ราคา ~4050 บาท,รพ.สมเด็จเจ้าพระยาราคา ~3500 บาท)


การขาดวิตามินดี อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อ หรือ immune response ของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอ จะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี 


 กลไกการเกิดความรุนแรงของผู้ป่วย COVID-19 ไม่เพียงแต่เกิดจากตัวไวรัสโดยตรงแต่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อตัวเชื้อ โดยเม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินควบคุมที่เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์และระบบต่างๆในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด


อย่างไรก็ตาม ร่างกายจะสร้างกระดูกในช่วงอายุ 20 ปีแรก ซึ่งวิตามินดีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูก หลานชายแป้งปัจจุบันอายุ 17 ปี สูง178 cm.ตอนที่น้องยังเล็ก แป้งอดห่วงหลานไม่ได้ กลัวว่าหลานน่าจะไม่สูงเพราะทั้งพ่อและแม่ไม่สูง นมไม่ค่อยดื่มและอาหารปกติไม่ค่อยกินเท่าไหร่ 


แป้งคิดว่า สิ่งที่มีส่วนให้น้องสูงได้คือ การตากแดด ซึ่งตอนอายุ 3-7 ปี เห็นหลานวิ่งเล่นกลางแดดจนตัวดำ พอโตขึ้นเรียนประถมก็ยังตากแดดเหมือนเดิม จนขึ้นม.ปลายกลายเป็นติดโซเชียล อยู่แต่ในห้อง ก้มหน้าก้มตาไถกระดานชนวน 


ส่วนลูกชายเพื่อนสมัยม.ต้น ปัจจุบันอายุ 13 ปี พ่อไม่สูง แม่เข้าข่ายเตี้ย แต่ลูกชายกลับสูง 178 cm.นอกจากดื่มนมเยอะ อีกสิ่งหนึ่งที่แป้งสังเกตคือ น้องเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่นเตะฟุตบอลตากแดดจนตัวดำ ไปหาเพื่อนคนนี้ทีไร น้องจะกลับมาจากการเล่นกีฬา มองเห็นชัดเจนว่า ตัวดำขึ้นและสูงขึ้นทุกปีค่ะ







ที่มา:


https://sverigesradio.se/artikel/6120407


https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D


วงกลมอาร์กติก - วิกิพีเดีย


วิตามินดี วิตามินที่ถูกลืม | Bangkok Hospitalhttps://www.bangkokhospital.com › content › vitamin-d-f...


การตรวจระดับวิตามินดีในเลือด 25-OH-Vitamin D3/D2 in serum ...http://www.ams.cmu.ac.th › amscsc › prnews


Vitamin bible


ประโยชน์ 'วิตามินดีมีดีต่อ 'สุขภาพมากกว่าที่คิด - กรุงเทพธุรกิจhttps://www.bangkokbiznews.com › ไลฟ์สไตล์


บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน - วิตามินดี ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่...https://pharmacy.mahidol.ac.th › วิตามีนดี-VitaminD


 https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/958


ความลับฤดูร้อนในสแกนดิเนเวีย


https://sciencenordic.com/a/1409600

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ไขปัญหานานาวิตามิน volume 1

เรียนแจ้งทุกท่านเพื่อโปรดทราบ

แป้งย้ายการตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ

และผิวพรรณประจำสัปดาห์มายัง https://pangpungpond.blogspot.com/ เนื่องจากเกิดปัญหาบางประการในการใช้งานเว็ปพันทิป


ดังนั้นจึงเปิดบล็อกไขปัญหานานาวิตามิน volume 1

กรุณาแจ้งอายุ ส่วนสูงและน้ำหนักมาพร้อมปัญหาสุขภาพและผิวพรรณมาด้วยทุกครั้งเพราะหลายครั้งคำตอบอยู่ในข้อมูลส่วนนี้ค่ะ


รบกวนทุกท่านส่งคำถามมายัง blog นี้

ตั้งแต่วันที่  19 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

 

แป้งจะมาตอบทุกปัญหาเท่าที่ค้นข้อมูลมาได้ เป็นประจำทุก

วันอาทิตย์-จันทร์

โดยปิดรับคำถามทุกวันเสาร์ เวลา 12.00 .

หากเกินกว่านั้น ขออนุญาตยกยอดไปตอบในครั้งถัดไป ต้องขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ

 

ทั้งนี้จะตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและผิวพรรณผ่านบล็อกไขปัญหานานาวิตามิน volume 1 อย่างละเอียดเพียงแห่งเดียวเท่านั้นนะคะ






ขอบคุณมากมายที่อยู่เป็นเพื่อนกันมานานนับ 10 ปี(ยอดคลิกอ่านบล็อกล่าสุด 1,405,250 ครั้ง จากจำนวนบทความ 222 บล็อกและเสียสละเวลาอ่านจนจบค่ะ


แป้งปังปอนด์💖💗💖


ข้อความด้านล่างเป็นคำตอบของสัปดาห์ที่ผ่านมา แป้งยกคำตอบทั้งหมดมาไว้ที่นี่แล้วนะคะ

ทำความเข้าใจให้ถูก ภูมิคุ้มกันลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


“หมออดุลย์” ชวนทำความเข้าใจการทำงานของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำไมภูมิคุ้มกันลดลง ทำไมต้องฉีดเข็มกระตุ้น ย้ำภูมิคุ้มกันที่ลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune  ถึงการทำงานของวัคซีนป้องกันโควิด และสาเหตุที่ภูมิคุ้มกันลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก โดยระบุว่า


ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่ลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


ได้ยินพิธีกรในรายการวิทยุพูดถึงว่า หลังฉีดวัคซีน เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันที่ลดลงเพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไป ถูกร่างกายขับออก จึงเหลือภูมิน้อยลง


มีความเข้าใจ เหมือน ยากิน ยาฉีด ที่เมื่อเรา กิน หรือ ฉีดเข้าไปในร่างกายเราแล้ว จะมีปริมาณยาน้อยลง เพราะ ตับ กับ ไต ขับยาออกไปจากร่างกาย


แต่วัคซีน ไม่ใช่แบบนี้ครับ


ในกรณีวัคซีน จะต่างกับยาอื่น ๆ แบบกลับด้านกันเลยครับ


ยาทั้งหลายที่เรากิน หรือฉีดเข้าไป ยานั้น เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น ถ้ามียามากพอจะฆ่าเชื้อได้มาก เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายขับยาออก ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคจะน้อยลง จึงต้องกินยาซ้ำ หรือฉีดยาซ้ำ เพื่อเพิ่มวัตถุออกฤทธิ์เข้าไปในร่างกายเรา



วัคซีน ทำงานคนละอย่าง เพราะวัตถุออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเอง ไม่ใช่วัคซีนที่ฉีดเข้าไป


วัคซีน เพียงทำหน้าที่เรียกแขก กระตุ้นในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเตรียมพร้อม ที่จะฆ่าเชื้อโรค เหมือนครูฝึก รด. ที่ คอยเป่านกหวีด เรียกนักศึกษาวิชาทหาร ให้ลุกขึ้นเตรียมตัวสำหรับฝึกในการสู้รบ


ดังนั้น วัคซีน หรือครูฝึกยังทำงานอยู่ จะมีคนมาคอยปลุกให้เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันขยัน และพร้อมที่จะสู้กับเชื้อโรค



แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ฝึก หรือเตรียมพร้อมสำหรับสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 ภูมิคุ้มกันก็จะหย่อนประสิทธิภาพลดลง จึงต้องมีวัคซีน เข็ม 2 เข็ม 3 เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกัน กลับมาขยันฝึกซ้อม ให้พร้อมที่จะสู้กับเชื้อโรค


ไม่ได้เกิดจากวัคซีนถูกขับออกจากร่างกาย เพราะวัคซีนทำหน้าที่ในตอนที่ฉีด เพียงไม่กี่วันก็หมดหน้าที่แล้ว ไม่ได้อยู่ในร่างกายเรา 3 เดือน 6 เดือนอย่างที่เข้าใจหรอกนะครับ


นอกจากวัคซีนแล้ว การได้สัมผัสเชื้อโรคก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในการสู้กับเชื้อโควิด-19 ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนแล้ว ไม่เคยได้เจอเชื้อโรคตัวจริงเลย เป็นเวลานาน ๆ ภูมิต้านทานก็จะค่อย ๆ ลดลง เลยเป็นเหตุให้ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ



สาเหตุภูมิคุ้มกันลดลง หลังฉีดวัคซีน

แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราฉีดวัคซีนแล้ว มีภูมิพอที่เราจะไม่ป่วยหนัก หรือ ไม่ป่วยตายแล้ว หากเราออกมาใช้

ชีวิตตามปกติ เจอเชื้อโรคปริมาณน้อย ๆ บ้าง เชื้อโรคเหล่านั้น ก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงขึ้น โดยที่ไม่เจ็บป่วย และไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำ ภูมิคุ้มกันเราก็จะยังแข็งแรงอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายไป


ที่สำคัญคือ การใส่หน้ากากตลอดยังจำเป็น แต่ไม่ใช่เพื่อไม่ให้เรารับเชื้อ แต่เพื่อเวลาเราเกิดติดเชื้อขึ้นมา จะได้ไม่เป็นคนแพร่เชื้อ ไปให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (เพราะกลุ่มนั้นหากรับเชื้อ อาจป่วยหนักหรือตายได้)

ภูมิคุ้มกันที่น้อยลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนถูกร่างกายขับออกนะครับ วัคซีนที่ฉีดเข้าไป หายไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรกแล้วครับ แต่ภูมิที่ลดลง เพราะระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกกระตุ้น ให้ฝึกฝน ให้แข็งแรง พร้อมจัดการเชื้อโรคครับ


หย่อนการฝึกฝนครับ ไม่ใช่ถูกขับออกครับ


ที่มา : 

www.Thairath.co.Th/news/local/2220011



เรื่องเล่าจากผลข้างเคียงของยา

หนึ่งในเหตุผลที่แป้งจะไม่ใช้ยารักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนเป็นตัวเลือกแรกเพราะเคยพบเจอกับผลข้างเคียงหลายอย่าง  ดังนั้นวิตามินจึงเป็นตัวเลือกอันดับห...

บทความยอดนิยม