บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ความชราไม่เคยปราณีใคร

 ความชราไม่เคยปราณีใคร

มนุษย์เราทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น มักจะเริ่มมีความเสื่อมในหลายระบบของร่างกายจากอนุมูลอิสระที่คอยทำลายเซลล์ต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
มีคำกล่าวไว้ว่า ความเสื่อมถอยจะเริ่มต้นเมื่ออายุ 30 ปี และทุกๆ10 ปี ความเสื่อมของร่างกายจะเพิ่มเรื่อยๆ

อนุมูลอิสระ คือสารที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย รวมถึงมลพิษต่างๆ จากสภาพแวดล้อม เช่น  ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์  โลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ

อนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยากับอะตอมอื่น ๆ ในร่างกายหรือเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยอนุมูลอิสระจะถูกสร้างขึ้นในร่างกายตามธรรมชาติและยังมีหน้าที่สำคัญในหลายกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ หากอนุมูลอิสระมีความเข้มข้นสูงขึ้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของเซลล์ ดีเอ็นเอ โปรตีน รวมถึงเยื่อหุ้มเซลล์ โดยอาจพัฒนาให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เบาหวาน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

อนุมูลอิสระเร่งให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรคตามอายุขัยที่ล่วงเลย เช่น
1.ความดันโลหิต (BP)ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน รอบเอวที่เพิ่มขึ้น ระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์ในการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น

ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจทำลายเซลล์ไต ดวงตา และอวัยวะอื่นๆ

ความดันโลหิตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติคือ น้อยกว่า 120/80 มม. ปรอท ผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 20 ปี ควรตรวจความดันโลหิตทุกๆ 2 ปี

2.การตรวจคลำจับแต่เนิ่นๆ อาจช่วยรักษาชีวิตไว้ได้
มะเร็งเต้านมจะรักษาได้ดีที่สุดเมื่อตรวจพบในระยะแรก โดยทั่วไป ยิ่งเนื้องอกมีขนาดเล็กเท่าใด โอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะหรือต่อมน้ำเหลืองจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

American Cancer Society แนะนำให้ผู้หญิงในวัย 20 และ 30 ปีทำการตรวจเต้านมโดยแพทย์ (CBE)ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทุก 3 ปี และตรวจทุกปีสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจเต้านมทางคลินิกไม่ได้เป็นการแทนที่การตรวจคัดกรองมะเร็ง

การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจเอ็กซ์เรย์ที่อาจช่วยค้นหามะเร็งขนาดเล็กในระยะแรกสุด ที่สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

American Cancer Society (ACS) แนะนำให้ใช้แมมโมแกรมพื้นฐานสำหรับผู้หญิงทุกคนเมื่ออายุ 40 ปี และตรวจแมมโมแกรมรายปีสำหรับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพดี

ในผู้หญิงบางคน (ผู้ที่มีเต้านมคลำเป็นก้อนหรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม) แนะนำให้ทำการตรวจ
แมมโมแกรมเป็นพื้นฐานหรือการตรวจแมมโมแกรมครั้งแรกเมื่ออายุ 35 ปี

อย่างไรก็ตาม US Preventionive Services Task Force (USPSTF) ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมตามปกติสำหรับสตรีที่มีอายุก่อน 50 ปี และแนะนำให้สิ้นสุดการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 74 ปี  

USPSTF มีคำแนะนำให้ผู้หญิงอายุระหว่าง 50-74 ปี ตรวจแมมโมแกรมทุกๆ 2 ปี ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการต่อมะเร็งเต้านม อาจได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติตามตารางการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแป้งได้รับข่าวร้ายจากพี่ในออฟฟิศเก่า มีน้องในแผนกที่เคยทำงานร่วมกัน อายุ 39 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว รักษามาตลอดแต่มะเร็งกระจายไปปอดและกระดูก ล่าสุดลามไปแกนสมอง(มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 เชื้อจะแพร่สู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง กระดูก หรือปอด เป็นต้น ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีหลายขนาด)ซึ่งน้องทนความเจ็บปวดไม่ไหว ไปสู่ภพภูมิที่ดีแล้วค่ะ

3.โรคต้อหินเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแรงดันภายในดวงตา ส่งผลให้เป็นอันตรายเพราะอาจทำให้เส้นประสาทตาเสียหายหรือตาบอดได้ โรคต้อหินอาจไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าการมองเห็นจะเสียหาย

ผู้หญิงควรได้รับการตรวจหาโรคต้อหินทุก 2 -4 ปีก่อนอายุ 40 ปี ระหว่างอายุ 40 - 54 ปี การตรวจควรทำทุก 1 - 3 ปี
ผู้หญิงอายุ 55-64 ปี ควรตรวจทุก 1 - 2 ปี
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ควรตรวจหาโรคต้อหินทุก 6 -12 เดือน

บางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินมากกว่าผู้อื่น ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่มีอายุเกิน 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินมากขึ้น
การบาดเจ็บที่ดวงตา การใช้สเตียรอยด์ หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคต้อหินบ่งบอกถึงแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น

 ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจตาพื้นฐานเพื่อประเมินสุขภาพดวงตาและความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคต้อหินเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

4. โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้น เมื่อเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงไปยังสมองถูกทำลาย ทำให้เซลล์ตายและมีปัญหาทางสมองหลายอย่าง รวมถึงการสูญเสียความจำและการควบคุมกล้ามเนื้อ

วิธีป้องกันเบื้องต้นคือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพรวมทั้งผักผลไม้หลากหลายชนิด ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นสองเท่าของโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นควรเลิกสูบบุหรี่
ในทำนองเดียวกันการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น

5. อาการปวดหลังเป็นหนึ่งอาการที่พบบ่อยที่สุด ชาวอเมริกันเกือบ 28 ล้านคนต้องไปโรงพยาบาลทุกปี ปัญหาเกี่ยวกับหลังมีมากมาย เช่น กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังคด และกระดูกสันหลังตีบ

การดูแลบริเวณหลังให้เคลื่อนไหวในลักษณะที่มีแรงกระแทกต่ำ
สามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้ โยคะเป็นทางเลือกที่ดี การปั่นจักรยานและว่ายน้ำก็เช่นกัน การลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกดทับที่หลังได้ หากหน้าที่การงานจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
ควรหยุดพัก ลุกขึ้นและยืดกล้ามเนื้อทุก 2-3 ชม.

แป้งเคยเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน มีหน้าที่การงานที่รับผิดชอบมากมาย ตามมาด้วยระดับความเครียดสูง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ออกกำลังกาย นั่งทำงานติดกับเก้าอี้แทบทั้งวัน ล่าสุดเพิ่งผ่าตัดหัวไหล่เพราะกล้ามเนื้อยึด

6.อาการปวดข้อเป็นเรื่องปกติ ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ประมาณ 20-30% ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ รูปแบบที่พบบ่อยที่สุดคือโรคข้อเข่าเสื่อม ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อมีอายุมาก และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เราสามารถลดภาระอันหนักหน่วงของข้อต่อได้ โดยการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายและใช้ข้อต่อในลักษณะที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สามารถบรรเทาอาการปวดข้อได้เช่นกัน

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ไม่มีใครช่วยเราได้ หากเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่ออายุยังน้อย ในวันที่ร่างกายเริ่มเสื่อมโทรมไปตามวัย เราแทบจะไม่พบปัญหาสุขภาพที่มีแต่โรครุมเร้าเหมือนคนอื่น แป้งดูแลสุขภาพได้ดีมา 10 กว่าปี(จากคนไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง)ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์+วิตามินคุณภาพสูง+ออกกำลังกาย ปัจจุบันเห็นผลชัดเจนมาก

ทุกวันนี้แป้งใช้ประสบการณ์การกินวิตามินมาช่วยดูแลและลดความเจ็บป่วยตามวัยให้คนในครอบครัวตัวเอง+ครอบครัวสามี ทุกคนมีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแถมชะลอวัยด้วยนะคะ






ที่มา :
The Benefits of Folic Acid for Women on MedicineNet.com

อนุมูลอิสระ อันตรายอย่างไร? รู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกัน - พบแพทย์

Folic acid วิตามินเพื่อผู้หญิงแทบทุกวัย

 Folic acid วิตามินเพื่อผู้หญิงแทบทุกวัย

กรดโฟลิก(Folic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ถือเป็นหนึ่งในตระกูลวิตา
มินบีรวม มีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัม(mcg)มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงช่วยในกระบวนการเผาผลาญของโปรตีน ถูกทำลายได้ง่ายหากเก็บรักษาโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสมในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานานเกินไป

มีประโยชน์อย่างไร
 1. มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดนิวคลิอิก(กรดไรโบนิวคลีอิก: RNAและกรดดีออกซิไรโบนิวคลิอิก:DNA)
 2. มีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์
 3. ร่างกายต้องการในกระบวนการใช้น้ำตาลและกรดอะมิโน
 4. สตรีทุกคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรเสริมกรดโฟลิก 400–800 ไมโครกรัม เริ่มต้นอย่างน้อย 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์และต่อเนื่องไปจนถึง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
 5. ลดระดับกรดอะมิโนโฮโมซิสเตอีนในเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ
 6. ป้องกันความพิการแต่กำเนิดในทารก
 7. ช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอด
 8. ช่วยให้ผิวพรรณแลดูสุขภาพดี
 9. อาจช่วยชะลอให้ผมขาวช้าลงได้ หากรับประทานร่วมกับกรดแพนโทเทนิก(B5)และพาบา(PABA)
 10. ช่วยให้เจริญอาหารหากคุณกำลังอ่อนเพลีย
 11. อาจช่วยป้องกันแผลร้อนใน
 12. ช่วยรักษาภาวะซีดหรือโลหิตจาง
 13. อาจช่วยลดการเกิดจอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุ

แหล่งอาหารจากธรรมชาติ : ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม แครอท ตับ ไข่แดง แคนตาลูป อาร์ติโช้ก แอปริคอท ฟักทอง ถั่ว แป้งไรย์ที่ไม่ผ่านการขัดสี ผักโขม คะน้า บร็อคโคลี่ อะโวคาโด ผลไม้รสเปรี้ยว

บางครั้งในวิตามินบีรวมจะมีกรดโฟลิกอยู่ 400 ไมโครกรัม แต่โดยมากจะมีเพียง 100 ไมโครกรัม

ขนาดรับประทานโดยทั่วไปคือ 400 ไมโครกรัม(mcg)ไปจนถึง 5 มิลลิกรัม(mg)ต่อวัน
พยายามเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทั้งโฟลิกและวิตามินบี 12 รวมอยู่ด้วยกัน

อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากเกินไปคือ ยังไม่พบอาการเป็นพิษ แต่บางคนอาจมีอาการผื่นแพ้ได้บ้าง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีปัญหาการนอนหลับ รู้สึกซึมเศร้าหรือมีความตื่นตระหนกมากเกินไป

หากร่างกายมีกรดโฟลิกมากเกินไป อาจทำให้โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ไม่แสดงอาการออกมา เนื่องจากการใช้กรดโฟลิกในปริมาณมากสามารถแก้ไขภาวะโลหิตจางจากเมกะโลบลาสติก ซึ่งเป็นภาวะที่มีลักษณะเฉพาะจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ผิดปกติและด้อยคุณภาพ ซึ่งพบว่ามีภาวะขาดวิตามินบี 12 อย่างรุนแรง

หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา มีนโยบายให้ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเสริมกรดโฟลิกเพื่อลดอุบัติการณ์ของการขาดโฟเลต
เนื่องจากการขาดโฟเลตเกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อยในประชากรบางกลุ่ม รวมทั้งผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับผ่านทางอาหาร

หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิก เช่น โรคไตที่มีการฟอกไต การติดเชื้อ โรคโลหิตจางชนิด hemolytic anemia

ภาวะเลือดจางจากการสลายของเม็ดเลือดแดงหรือ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะเลือดจาง (anaemia) ที่เกิดจากการเฮโมไลซิส (hemolysis) การสลายตัวอย่างผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยทั่วไปเกิดในม้าม ภาวะเลือดจางชนิดเฮโมไลติกคิดเป็น 5% ของภาวะเลือดจางจากทั้งหมด

ผลที่ตามมาจากภาวะเลือดจางแบบเฮโมไลติกมีหลายประการ ตั้งแต่อาการทั่วไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต
การสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงยังนำไปสู่ดีซ่าน และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น นิ่วในถุงน้ำดีและ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง

อาหารเสริมโฟเลตอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดที่แพทย์สั่งโดยทั่วไป ได้แก่
 • เมโธเทรกเซท( Methotrexate )เป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งบางชนิดและโรคภูมิแพ้ตัวเอง(SLE)
 • ยารักษาโรคลมบ้าหมู กรดโฟลิกอาจรบกวนการใช้ยากันชัก เช่น Dilantin, Carbatrol และ Depacon
 • ซัลฟาซาลาซีน(sulfasalazine )ใช้ในการรักษาลำไส้ใหญ่

หากคุณเป็นผู้หญิง ควรรับประทานกรดโฟลิกและวิตามินบี6ให้เพียงพอ กรดโฟลิกเพียง 400 ไมโครกรัมและวิตามินบี 6 เพียง2-10 มิลลิกรัม สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้ถึงร้อยละ 42

หากเป็นนักดื่มตัวยง ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มขึ้นเนื่องจากแอลกอฮอล์ขัดขวางการดูดซึมโฟเลตและเพิ่มการขับปัสสาวะ  

การรับประทานวิตามินซีในปริมาณสูงเพิ่มการขับกรดโฟลิกออกจากร่างกาย ดังนั้นผู้ที่รับประทานวิตามินซีมากกว่า 2 กรัมต่อวัน
ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มควบคู่ไปด้วย

หากรับประทานยากันชักไดแลนติน ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซันโฟนาไมด์ ฟีโนบาบิทอลหรือแอสไพริน ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่ม

มีหลายคนที่รับประทานกรดโฟลิก 1-5 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้

หากกำลังป่วยหรือร่างกายกำลังต่อสู้กับโรคใดๆอยู่
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อต่อสู้กับโรค ควรจะมีกรดโฟลิกรวมอยู่ด้วยเพราะหากร่างกายขาดกรดโฟลิกไป แอนติบอดี้หรือสารภูมิคุ้มกันก็จะบกพร่องเช่นกัน

การรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณสูง อาจทำให้คนไข้โรคลมชักซึ่งรับประทานยาฟรีโนไทอินอยู่เกิดอาการชักขึ้นมา

การวิจัยพบว่า ระดับโฟเลตในเลือดต่ำสัมพันธ์กับการทำงานของสมองที่บกพร่องและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ

งานศึกษาวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า อาหารเสริมกรดโฟลิกอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตและช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์

การศึกษาในปี 2019 ในผู้ใหญ่ 180 คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย (MCI) แสดงให้เห็นว่าการเสริมกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 ปี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

อย่างไรก็ตาม ความเป็นพิษนั้นหาได้ยาก เนื่องจากโฟเลตสามารถละลายน้ำและขับออกจากร่างกายได้ง่าย   ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมในปริมาณสูง เว้นแต่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

แป้งเคยกิน folic 800 mcg ยี่ห้อ natural factors ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า ตอนนั้นอายุน่าจะ 39 ปี กินวิตามินครบ 3 เดือน พบว่า ไม่มีความแตกต่างเด่นชัดโดยเฉพาะเรื่องผิวพรรณ น่าจะเป็นเพราะพื้นผิวเดิมอิ่มน้ำอยู่แล้ว เลยเลิกกินไป เพิ่งจะกลับมากินอีกครั้งเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เนื่องจากพ่อแป้ง(อายุ 71 ปี)โทรมาบอกว่า ช่วยจัดวิตามินให้พ่อหน่อย มีญาติๆบอกว่า ทำไมผอมจัง

แป้งก็เลยมาพิจารณาว่า คนสูงอายุส่วนใหญ่มักจะพร่องวิตามินบี 12 เนื่องจากกระเพาะอาหารอักเสบและเซลล์ผนังกระเพาะอาหารฝ่อ (Atrophic Gastritis and Hypochlorhydria) ทำให้การสร้างกรดในกระเพาะอาหารลดลง การดูดซึมวิตามินบี 12  จะลดลงไปด้วย
แต่เอ๊!เคยเห็นผลเลือดพ่อ เป็นโลหิตจางด้วยนี่นา เลยตัดสินใจให้กิน folic acid 5 mg ขององค์การเภสัช ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า พอครบ 1 เดือน โทรไปถามปรากฎว่า น้ำหนักพ่อขึ้นมาเกือบ 2 กก. มีเนื้อมีหนังขึ้น โล่งอกไปที

แป้งเลยลองกินตามมั่ง กินได้เกือบเดือน อ้าว! ประจำเดือนไม่มา เฮ้อ!นี่เราจะเป็นวัยทองแล้วเหรอนี่ โอ!ไม่น๊า ประจำเดือนครั้งล่าสุด เลือดยังเยอะอยู่เลย เพราะวันแรกต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย 2 รอบ ทำไมอยู่ดีๆก็จะหมดประจำเดือนไปซะล่ะ

มาคิดๆดู น่าจะเกิดจาก folic acid 5 mg แป้งเลยเลิกกิน พอเดือนถัดมาประจำเดือนก็มาเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ประจำเดือนทะลักมาประหนึ่งสบทบของเดือนที่แล้วยังไงยังงั้น เปลี่ยนผ้าอนามัย 3 ครั้งในวันแรก เล่นเอาซะเพลียเลยค่ะ

สรุปแป้งยังไม่ถึงวัยทอง ปัจจุบันประจำเดือนมาตามปกติแล้วนะคะ










ที่มา :

Folic Acid: Benefits, Foods, Deficiency, and More - Healthlinehttps://www.healthline.com › nutrition › f...

ภาวะเลือดจางจากการสลายของเม็ดเลือดแดง - วิกิพีเดีย

Vitamin bible

https://www.livestrong.com/article/473444-does-folic-acid-contribute-to-acid-reflux/

เรื่องเล่าจากผลข้างเคียงของยา

หนึ่งในเหตุผลที่แป้งจะไม่ใช้ยารักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนเป็นตัวเลือกแรกเพราะเคยพบเจอกับผลข้างเคียงหลายอย่าง  ดังนั้นวิตามินจึงเป็นตัวเลือกอันดับห...

บทความยอดนิยม