บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ความชราไม่เคยปราณีใคร

 ความชราไม่เคยปราณีใคร

มนุษย์เราทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น มักจะเริ่มมีความเสื่อมในหลายระบบของร่างกายจากอนุมูลอิสระที่คอยทำลายเซลล์ต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
มีคำกล่าวไว้ว่า ความเสื่อมถอยจะเริ่มต้นเมื่ออายุ 30 ปี และทุกๆ10 ปี ความเสื่อมของร่างกายจะเพิ่มเรื่อยๆ

อนุมูลอิสระ คือสารที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย รวมถึงมลพิษต่างๆ จากสภาพแวดล้อม เช่น  ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์  โลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ

อนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุลที่สามารถทำปฏิกิริยากับอะตอมอื่น ๆ ในร่างกายหรือเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยอนุมูลอิสระจะถูกสร้างขึ้นในร่างกายตามธรรมชาติและยังมีหน้าที่สำคัญในหลายกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ หากอนุมูลอิสระมีความเข้มข้นสูงขึ้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของเซลล์ ดีเอ็นเอ โปรตีน รวมถึงเยื่อหุ้มเซลล์ โดยอาจพัฒนาให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เบาหวาน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

อนุมูลอิสระเร่งให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรคตามอายุขัยที่ล่วงเลย เช่น
1.ความดันโลหิต (BP)ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน รอบเอวที่เพิ่มขึ้น ระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์ในการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น

ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจทำลายเซลล์ไต ดวงตา และอวัยวะอื่นๆ

ความดันโลหิตที่อยู่ในเกณฑ์ปกติคือ น้อยกว่า 120/80 มม. ปรอท ผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 20 ปี ควรตรวจความดันโลหิตทุกๆ 2 ปี

2.การตรวจคลำจับแต่เนิ่นๆ อาจช่วยรักษาชีวิตไว้ได้
มะเร็งเต้านมจะรักษาได้ดีที่สุดเมื่อตรวจพบในระยะแรก โดยทั่วไป ยิ่งเนื้องอกมีขนาดเล็กเท่าใด โอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะหรือต่อมน้ำเหลืองจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น

American Cancer Society แนะนำให้ผู้หญิงในวัย 20 และ 30 ปีทำการตรวจเต้านมโดยแพทย์ (CBE)ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพทุก 3 ปี และตรวจทุกปีสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจเต้านมทางคลินิกไม่ได้เป็นการแทนที่การตรวจคัดกรองมะเร็ง

การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจเอ็กซ์เรย์ที่อาจช่วยค้นหามะเร็งขนาดเล็กในระยะแรกสุด ที่สามารถตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

American Cancer Society (ACS) แนะนำให้ใช้แมมโมแกรมพื้นฐานสำหรับผู้หญิงทุกคนเมื่ออายุ 40 ปี และตรวจแมมโมแกรมรายปีสำหรับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพดี

ในผู้หญิงบางคน (ผู้ที่มีเต้านมคลำเป็นก้อนหรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม) แนะนำให้ทำการตรวจ
แมมโมแกรมเป็นพื้นฐานหรือการตรวจแมมโมแกรมครั้งแรกเมื่ออายุ 35 ปี

อย่างไรก็ตาม US Preventionive Services Task Force (USPSTF) ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมตามปกติสำหรับสตรีที่มีอายุก่อน 50 ปี และแนะนำให้สิ้นสุดการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 74 ปี  

USPSTF มีคำแนะนำให้ผู้หญิงอายุระหว่าง 50-74 ปี ตรวจแมมโมแกรมทุกๆ 2 ปี ผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงบางประการต่อมะเร็งเต้านม อาจได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติตามตารางการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแป้งได้รับข่าวร้ายจากพี่ในออฟฟิศเก่า มีน้องในแผนกที่เคยทำงานร่วมกัน อายุ 39 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว รักษามาตลอดแต่มะเร็งกระจายไปปอดและกระดูก ล่าสุดลามไปแกนสมอง(มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 เชื้อจะแพร่สู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง กระดูก หรือปอด เป็นต้น ระยะนี้ก้อนเนื้อจะมีหลายขนาด)ซึ่งน้องทนความเจ็บปวดไม่ไหว ไปสู่ภพภูมิที่ดีแล้วค่ะ

3.โรคต้อหินเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแรงดันภายในดวงตา ส่งผลให้เป็นอันตรายเพราะอาจทำให้เส้นประสาทตาเสียหายหรือตาบอดได้ โรคต้อหินอาจไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าการมองเห็นจะเสียหาย

ผู้หญิงควรได้รับการตรวจหาโรคต้อหินทุก 2 -4 ปีก่อนอายุ 40 ปี ระหว่างอายุ 40 - 54 ปี การตรวจควรทำทุก 1 - 3 ปี
ผู้หญิงอายุ 55-64 ปี ควรตรวจทุก 1 - 2 ปี
ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ควรตรวจหาโรคต้อหินทุก 6 -12 เดือน

บางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินมากกว่าผู้อื่น ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่มีอายุเกิน 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินมากขึ้น
การบาดเจ็บที่ดวงตา การใช้สเตียรอยด์ หรือมีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคต้อหินบ่งบอกถึงแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้น

 ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจตาพื้นฐานเพื่อประเมินสุขภาพดวงตาและความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคต้อหินเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

4. โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้น เมื่อเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงไปยังสมองถูกทำลาย ทำให้เซลล์ตายและมีปัญหาทางสมองหลายอย่าง รวมถึงการสูญเสียความจำและการควบคุมกล้ามเนื้อ

วิธีป้องกันเบื้องต้นคือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพรวมทั้งผักผลไม้หลากหลายชนิด ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นสองเท่าของโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นควรเลิกสูบบุหรี่
ในทำนองเดียวกันการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองที่เพิ่มขึ้น ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น

5. อาการปวดหลังเป็นหนึ่งอาการที่พบบ่อยที่สุด ชาวอเมริกันเกือบ 28 ล้านคนต้องไปโรงพยาบาลทุกปี ปัญหาเกี่ยวกับหลังมีมากมาย เช่น กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังคด และกระดูกสันหลังตีบ

การดูแลบริเวณหลังให้เคลื่อนไหวในลักษณะที่มีแรงกระแทกต่ำ
สามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้ โยคะเป็นทางเลือกที่ดี การปั่นจักรยานและว่ายน้ำก็เช่นกัน การลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกดทับที่หลังได้ หากหน้าที่การงานจำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
ควรหยุดพัก ลุกขึ้นและยืดกล้ามเนื้อทุก 2-3 ชม.

แป้งเคยเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน มีหน้าที่การงานที่รับผิดชอบมากมาย ตามมาด้วยระดับความเครียดสูง รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ออกกำลังกาย นั่งทำงานติดกับเก้าอี้แทบทั้งวัน ล่าสุดเพิ่งผ่าตัดหัวไหล่เพราะกล้ามเนื้อยึด

6.อาการปวดข้อเป็นเรื่องปกติ ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ประมาณ 20-30% ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ รูปแบบที่พบบ่อยที่สุดคือโรคข้อเข่าเสื่อม ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อมีอายุมาก และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เราสามารถลดภาระอันหนักหน่วงของข้อต่อได้ โดยการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายและใช้ข้อต่อในลักษณะที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สามารถบรรเทาอาการปวดข้อได้เช่นกัน

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ไม่มีใครช่วยเราได้ หากเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่ออายุยังน้อย ในวันที่ร่างกายเริ่มเสื่อมโทรมไปตามวัย เราแทบจะไม่พบปัญหาสุขภาพที่มีแต่โรครุมเร้าเหมือนคนอื่น แป้งดูแลสุขภาพได้ดีมา 10 กว่าปี(จากคนไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง)ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์+วิตามินคุณภาพสูง+ออกกำลังกาย ปัจจุบันเห็นผลชัดเจนมาก

ทุกวันนี้แป้งใช้ประสบการณ์การกินวิตามินมาช่วยดูแลและลดความเจ็บป่วยตามวัยให้คนในครอบครัวตัวเอง+ครอบครัวสามี ทุกคนมีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแถมชะลอวัยด้วยนะคะ






ที่มา :
The Benefits of Folic Acid for Women on MedicineNet.com

อนุมูลอิสระ อันตรายอย่างไร? รู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกัน - พบแพทย์

Folic acid วิตามินเพื่อผู้หญิงแทบทุกวัย

 Folic acid วิตามินเพื่อผู้หญิงแทบทุกวัย

กรดโฟลิก(Folic acid) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ถือเป็นหนึ่งในตระกูลวิตา
มินบีรวม มีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัม(mcg)มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงช่วยในกระบวนการเผาผลาญของโปรตีน ถูกทำลายได้ง่ายหากเก็บรักษาโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสมในอุณหภูมิห้องเป็นเวลานานเกินไป

มีประโยชน์อย่างไร
 1. มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดนิวคลิอิก(กรดไรโบนิวคลีอิก: RNAและกรดดีออกซิไรโบนิวคลิอิก:DNA)
 2. มีความจำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์
 3. ร่างกายต้องการในกระบวนการใช้น้ำตาลและกรดอะมิโน
 4. สตรีทุกคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรเสริมกรดโฟลิก 400–800 ไมโครกรัม เริ่มต้นอย่างน้อย 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์และต่อเนื่องไปจนถึง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
 5. ลดระดับกรดอะมิโนโฮโมซิสเตอีนในเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ
 6. ป้องกันความพิการแต่กำเนิดในทารก
 7. ช่วยในการสร้างน้ำนมของมารดาหลังคลอด
 8. ช่วยให้ผิวพรรณแลดูสุขภาพดี
 9. อาจช่วยชะลอให้ผมขาวช้าลงได้ หากรับประทานร่วมกับกรดแพนโทเทนิก(B5)และพาบา(PABA)
 10. ช่วยให้เจริญอาหารหากคุณกำลังอ่อนเพลีย
 11. อาจช่วยป้องกันแผลร้อนใน
 12. ช่วยรักษาภาวะซีดหรือโลหิตจาง
 13. อาจช่วยลดการเกิดจอประสาทตาเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุ

แหล่งอาหารจากธรรมชาติ : ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม แครอท ตับ ไข่แดง แคนตาลูป อาร์ติโช้ก แอปริคอท ฟักทอง ถั่ว แป้งไรย์ที่ไม่ผ่านการขัดสี ผักโขม คะน้า บร็อคโคลี่ อะโวคาโด ผลไม้รสเปรี้ยว

บางครั้งในวิตามินบีรวมจะมีกรดโฟลิกอยู่ 400 ไมโครกรัม แต่โดยมากจะมีเพียง 100 ไมโครกรัม

ขนาดรับประทานโดยทั่วไปคือ 400 ไมโครกรัม(mcg)ไปจนถึง 5 มิลลิกรัม(mg)ต่อวัน
พยายามเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทั้งโฟลิกและวิตามินบี 12 รวมอยู่ด้วยกัน

อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานมากเกินไปคือ ยังไม่พบอาการเป็นพิษ แต่บางคนอาจมีอาการผื่นแพ้ได้บ้าง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร มีปัญหาการนอนหลับ รู้สึกซึมเศร้าหรือมีความตื่นตระหนกมากเกินไป

หากร่างกายมีกรดโฟลิกมากเกินไป อาจทำให้โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 ไม่แสดงอาการออกมา เนื่องจากการใช้กรดโฟลิกในปริมาณมากสามารถแก้ไขภาวะโลหิตจางจากเมกะโลบลาสติก ซึ่งเป็นภาวะที่มีลักษณะเฉพาะจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ผิดปกติและด้อยคุณภาพ ซึ่งพบว่ามีภาวะขาดวิตามินบี 12 อย่างรุนแรง

หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา มีนโยบายให้ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเสริมกรดโฟลิกเพื่อลดอุบัติการณ์ของการขาดโฟเลต
เนื่องจากการขาดโฟเลตเกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อยในประชากรบางกลุ่ม รวมทั้งผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับผ่านทางอาหาร

หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิก เช่น โรคไตที่มีการฟอกไต การติดเชื้อ โรคโลหิตจางชนิด hemolytic anemia

ภาวะเลือดจางจากการสลายของเม็ดเลือดแดงหรือ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะเลือดจาง (anaemia) ที่เกิดจากการเฮโมไลซิส (hemolysis) การสลายตัวอย่างผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยทั่วไปเกิดในม้าม ภาวะเลือดจางชนิดเฮโมไลติกคิดเป็น 5% ของภาวะเลือดจางจากทั้งหมด

ผลที่ตามมาจากภาวะเลือดจางแบบเฮโมไลติกมีหลายประการ ตั้งแต่อาการทั่วไปจนถึงอาการที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต
การสลายตัวของเซลล์เม็ดเลือดแดงยังนำไปสู่ดีซ่าน และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น นิ่วในถุงน้ำดีและ ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง

อาหารเสริมโฟเลตอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิดที่แพทย์สั่งโดยทั่วไป ได้แก่
 • เมโธเทรกเซท( Methotrexate )เป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งบางชนิดและโรคภูมิแพ้ตัวเอง(SLE)
 • ยารักษาโรคลมบ้าหมู กรดโฟลิกอาจรบกวนการใช้ยากันชัก เช่น Dilantin, Carbatrol และ Depacon
 • ซัลฟาซาลาซีน(sulfasalazine )ใช้ในการรักษาลำไส้ใหญ่

หากคุณเป็นผู้หญิง ควรรับประทานกรดโฟลิกและวิตามินบี6ให้เพียงพอ กรดโฟลิกเพียง 400 ไมโครกรัมและวิตามินบี 6 เพียง2-10 มิลลิกรัม สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายเฉียบพลันได้ถึงร้อยละ 42

หากเป็นนักดื่มตัวยง ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มขึ้นเนื่องจากแอลกอฮอล์ขัดขวางการดูดซึมโฟเลตและเพิ่มการขับปัสสาวะ  

การรับประทานวิตามินซีในปริมาณสูงเพิ่มการขับกรดโฟลิกออกจากร่างกาย ดังนั้นผู้ที่รับประทานวิตามินซีมากกว่า 2 กรัมต่อวัน
ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่มควบคู่ไปด้วย

หากรับประทานยากันชักไดแลนติน ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซันโฟนาไมด์ ฟีโนบาบิทอลหรือแอสไพริน ควรรับประทานกรดโฟลิกเพิ่ม

มีหลายคนที่รับประทานกรดโฟลิก 1-5 มิลลิกรัมทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอได้

หากกำลังป่วยหรือร่างกายกำลังต่อสู้กับโรคใดๆอยู่
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อต่อสู้กับโรค ควรจะมีกรดโฟลิกรวมอยู่ด้วยเพราะหากร่างกายขาดกรดโฟลิกไป แอนติบอดี้หรือสารภูมิคุ้มกันก็จะบกพร่องเช่นกัน

การรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณสูง อาจทำให้คนไข้โรคลมชักซึ่งรับประทานยาฟรีโนไทอินอยู่เกิดอาการชักขึ้นมา

การวิจัยพบว่า ระดับโฟเลตในเลือดต่ำสัมพันธ์กับการทำงานของสมองที่บกพร่องและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ

งานศึกษาวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า อาหารเสริมกรดโฟลิกอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองในผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตและช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์

การศึกษาในปี 2019 ในผู้ใหญ่ 180 คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย (MCI) แสดงให้เห็นว่าการเสริมกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมต่อวัน เป็นเวลา 2 ปี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

อย่างไรก็ตาม ความเป็นพิษนั้นหาได้ยาก เนื่องจากโฟเลตสามารถละลายน้ำและขับออกจากร่างกายได้ง่าย   ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมในปริมาณสูง เว้นแต่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

แป้งเคยกิน folic 800 mcg ยี่ห้อ natural factors ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า ตอนนั้นอายุน่าจะ 39 ปี กินวิตามินครบ 3 เดือน พบว่า ไม่มีความแตกต่างเด่นชัดโดยเฉพาะเรื่องผิวพรรณ น่าจะเป็นเพราะพื้นผิวเดิมอิ่มน้ำอยู่แล้ว เลยเลิกกินไป เพิ่งจะกลับมากินอีกครั้งเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เนื่องจากพ่อแป้ง(อายุ 71 ปี)โทรมาบอกว่า ช่วยจัดวิตามินให้พ่อหน่อย มีญาติๆบอกว่า ทำไมผอมจัง

แป้งก็เลยมาพิจารณาว่า คนสูงอายุส่วนใหญ่มักจะพร่องวิตามินบี 12 เนื่องจากกระเพาะอาหารอักเสบและเซลล์ผนังกระเพาะอาหารฝ่อ (Atrophic Gastritis and Hypochlorhydria) ทำให้การสร้างกรดในกระเพาะอาหารลดลง การดูดซึมวิตามินบี 12  จะลดลงไปด้วย
แต่เอ๊!เคยเห็นผลเลือดพ่อ เป็นโลหิตจางด้วยนี่นา เลยตัดสินใจให้กิน folic acid 5 mg ขององค์การเภสัช ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า พอครบ 1 เดือน โทรไปถามปรากฎว่า น้ำหนักพ่อขึ้นมาเกือบ 2 กก. มีเนื้อมีหนังขึ้น โล่งอกไปที

แป้งเลยลองกินตามมั่ง กินได้เกือบเดือน อ้าว! ประจำเดือนไม่มา เฮ้อ!นี่เราจะเป็นวัยทองแล้วเหรอนี่ โอ!ไม่น๊า ประจำเดือนครั้งล่าสุด เลือดยังเยอะอยู่เลย เพราะวันแรกต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย 2 รอบ ทำไมอยู่ดีๆก็จะหมดประจำเดือนไปซะล่ะ

มาคิดๆดู น่าจะเกิดจาก folic acid 5 mg แป้งเลยเลิกกิน พอเดือนถัดมาประจำเดือนก็มาเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ประจำเดือนทะลักมาประหนึ่งสบทบของเดือนที่แล้วยังไงยังงั้น เปลี่ยนผ้าอนามัย 3 ครั้งในวันแรก เล่นเอาซะเพลียเลยค่ะ

สรุปแป้งยังไม่ถึงวัยทอง ปัจจุบันประจำเดือนมาตามปกติแล้วนะคะ










ที่มา :

Folic Acid: Benefits, Foods, Deficiency, and More - Healthlinehttps://www.healthline.com › nutrition › f...

ภาวะเลือดจางจากการสลายของเม็ดเลือดแดง - วิกิพีเดีย

Vitamin bible

https://www.livestrong.com/article/473444-does-folic-acid-contribute-to-acid-reflux/

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ประโยชน์ล้นเหลือของวิตามินดีที่เราอาจลืม

คนไทยเรามีความโชคดีอย่างหนึ่งคือ ด้วยสภาพภูมิประเทศอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรอากาศจึงร้อนระอุทะลุปรอทในฤดูร้อน บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา มีแสงแดดทุกฤดู วิตามินดีหรือเรียกว่า ‘’วิตามินแดด’’จึงมีตลอดทั้งปี


ไม่เหมือนต่างประเทศโดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวียที่มีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นสุดขั้ว  ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียประกอบไปด้วย สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก รวมถึงประเทศอื่น  ในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ประเทศไอซ์แลนด์ และประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีฤดูร้อนเพียง 3 เดือน เริ่มต้นประมาณเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม อากาศดีเหมาะแก่การทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีกลางวันยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง 


ช่วงเริ่มต้นฤดูร้อน ดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณ 04.30 .และตกเวลา 22.50 . สำหรับเมืองที่อยู่สูงกว่า arctic circle(คือวงกลมละติจูดที่อยู่เหนือที่สุด ในบรรดา 5 วงกลมละติจูดหลักบนแผนที่โลก พื้นในในบริเวณนี้เรียกว่าอาร์กติกด้านเหนือสุดของวงกลม มีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือของฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ทำให้สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางคืน และมีปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดเวลาต่อเนื่องกัน 24 ชั่วโมง อย่างน้อยปีละครั้ง ทำให้ไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ได้แม้ในเวลากลางวัน ปรากฏการณ์เกิดขึ้นที่ขั้วโลกใต้เช่นกัน)จะมองเห็นพระอาทิตย์ตลอด 24 ชม หรือที่เรียกกันว่า Midnight Sun (พระอาทิตย์เที่ยงคืน


ซึ่งประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องพลเมืองขาดวิตามินดี ผลการศึกษาใหม่(.2015)จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซาห์ลเกรนสกา พบว่า ประชากรสวีเดนมากถึงครึ่งหนึ่งอาจประสบปัญหาการขาดวิตามินดีในช่วงฤดูหนาว


นักวิจัยในโกเธนเบิร์กได้ศึกษาระดับวิตามินดีในแต่ละฤดูกาลของผู้บริจาคโลหิต 550 ราย และพบว่าในช่วงฤดูหนาว มากถึงครึ่งหนึ่งมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอ 


คนเหล่านี้เป็นคนที่มีสุขภาพดีซึ่งไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาระดับวิตามินดีต่ำ


การขาดวิตามินดี อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและไม่มีพลังงาน และบางครั้งก็หดหู่ เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อความสมดุลของแคลเซียม สุขภาพกระดูกและระบบภูมิคุ้มกัน 


ผลการศึกษาล่าสุดยังแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการขาดวิตามินดีกับโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคMS(Multiple Sclerosis)โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ได้ด้วยการกินวิตามินดีหรือไม่


แหล่งวิตามินดีที่สำคัญที่สุดมาจากร่างกาย ซึ่งผิวที่สัมผัสกับแสง UVB จากแสงแดดซึ่งจะผลิตวิตามินได้เอง แต่ปัญหาสำหรับพลเมืองในภาคเหนือคือ รังสี UVB อ่อนเกินไปและอยู่ไกลเกินไประหว่างฤดูหนาว


พอถึงฤดูใบไม้ผลิ หลังจากที่แสงอาทิตย์กลับมา ก็ยังไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อระดับวิตามินดีของประชากรมากนัก เนื่องจากรังสี UVB นั้นไม่แรงพอ แม้แต่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยจะต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานพอสมควรสำหรับการผลิตวิตามินดี


วิตามินดีที่เป็นอาหารเสริมสกัดจากน้ำมันตับปลาและลาโนลิน(Lanolin) ซึ่งเป็นขี้ผึ้งจากสัตว์ที่ได้จากการย่อยขนแกะ จัดเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ 

1.ergocalciferol พบในยีสต์

2.cholecalciferol พบได้ในน้ำมันตับปลา ไข่แดง 


วิตามินดีสังเคราะห์ได้ที่ผิวหนัง ส่วนในน้ำนมสามารถพบวิตามินดีได้ทั้งสองชนิด ได้รับจากอาหารหรือแสงแดด

รังสียูวีจากแสงแดดจะทำปฏิยากับน้ำมันที่ผิวหนัง ก่อให้เกิดการสร้างวิตามินซึ่งจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย วิตามินดีที่เรารับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมพร้อมไขมันผ่านผนังลำไส้


วิตามินดี 2 หรือ เออโกแคลซิเฟอรอล (Vitamin D2;Ergocalciferol) วิตามินดีชนิดนี้ได้มาจากพืชและยีสต์ สำหรับวิตามิน D2 ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น

            

วิตามินดี 3 หรือ โคเลแคลซิเฟอรอล (Vitamin D3;Cholecalciferol) เป็นชนิดที่ได้มาจากสัตว์ และจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังของคนเรา โดยเมื่อผิวหนังของเราได้รับแสงแดดที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเลตบี ซึ่งเป็นรังสีคลื่นสั้น รังสีจะถูกดูดซับและกระจายตัวอยู่บนผิวหนังชั้นบน แล้วผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็นวิตามินดี 3 อย่างรวดเร็ว

            

วิตามินทั้ง 2 แบบจะสะสมในร่างกายในรูป แคลซิไดออล (Calcidiol) คือ 25(OH) vitamin D2 กับ 25(OH) vitamin D3 ซึ่งเป็นรูปแบบของวิตามินดี ที่ยังไม่ออกฤทธิ์ ใช้บอกระดับวิตามินดีที่สะสมในร่างกายนั่นเอง


วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง  ในร่างกาย  เช่น ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน


นอกจากนี้ยังส่งเสริมการนำกระแสกระตุ้นผ่านเส้นใยประสาทและกล้ามเนื้อ เพิ่มภูมิคุ้มกัน รักษาระดับฟอสฟอรัสในเลือด และมีส่วนร่วมในการควบคุมความดันโลหิต  วิตามินดียังจำเป็นสำหรับการทำงานที่เหมาะสมของไตและต่อมไทรอยด์  การขาดวิตามินในร่างกายนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและไมเกรน


หมอกควันพิษในอากาศส่งผลให้แสงอาทิตย์กระตุ้นการสร้างวิตามินดีได้น้อยลง หากตากแดดจนผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนแล้ว

การสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังจะหยุดลง


มีประโยชน์อย่างไร

1.วิตามินดีมีบทบาทในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในลำไส้เล็ก ซึ่งจำเป็นต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน

2.เมื่อรับประทานร่วมกับวิตามินเอและซี อาจจะช่วยในการป้องกันโรคหวัดได้

3.อาจช่วยในการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ

4.ช่วยในการดูดซึมของวิตามินเอ

5.เพิ่มระดับพลังงาน

6.วิตามินดีมีบทบาทในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไป วิตามินดีจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ปรับตัวลดลงด้วยฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส และต้านการอักเสบ ความบกพร่องเชื่อมโยงกับความเสี่ยงหรือความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นรวมถึง HIV และ COVID-19 ระดับวิตามินดีที่ลดลงดูเหมือนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับวัณโรค

7.อาจช่วยให้อารมณ์คงที่

8.ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท  ปอดและทางเดินหายใจ

9.อาจช่วยให้นอนหลับได้ดี

10.อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกบาง (osteopenia) และกระดูกพรุน (osteoporosis) แม้ว่าผลกระทบของโรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกเรื้อรัง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ระดับวิตามินดีที่ลดลงในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังหรือการเสริมวิตามินดีนั้นช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกที่ไม่เฉพาะเจาะจงเรื้อรัง

11.ขัดขวางการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ซึ่งดูดซับเนื้อเยื่อกระดูกกลับคืนมา ทำให้กระดูกบางและอ่อนแอลง มีผลให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกหักได้ง่าย

12.วิตามินดีช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) มากขึ้น มีผลช่วยลดความเครียด (Stress) และภาวะซึมเศร้า (Depression) 


มีบทความวิชาการจาก   รศ.ดร.ภญจิรภรณ์ อังวิทยาธร  ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเอาไว้ว่า การศึกษาวิจัยหลายชิ้นค้นพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับวิตามินดี (วัดจากระดับ 25-hydroxy vitamin D3 ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่า วิตามินดีในกระแสเลือดกับภาวะซีมเศร้า โดยผู้ที่มีระดับวิตามินดีต่ำจะแสดงอาการของโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีสุขภาพปกติ


ความรุนแรงของอาการจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อวิตามินดีมีระดับต่ำลงมาก กลไกที่ทำให้วิตามินดีมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า

ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า สมองส่วน hypothalamus มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า โดยผ่านกลไกของ vitamin D receptor ในร่างกายของมนุษย์จะพบ vitamin D receptor มากในส่วน hypothalamus ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไร้ท่อที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาท (neuroendocrine system)


วิตามินดีในร่างกายคนเรา มีค่าปกติในระดับสูงกว่า 30 ng/mL ถ้าต่ำกว่า 20 ng/mL จัดอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป


แหล่งอาหารจากธรรมชาติ

น้ำมันตับปลา(น้ำมันตับปลาค็อดเป็นแหล่งของวิตามินดีที่สูงมาก ใน 1 ช้อนโต๊ะ มีวิตามินดีมากถึง 1,360 IU )ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน(ปลาแซลมอนสุก 3 ออนซ์ (85 g) มีวิตามินดีมากถึง 447 IU) ปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มมักมีวิตามินดีเพียงหนึ่งในสามที่พบในปลาแซลมอนธรรมชาติ,ปลาทูน่า(ทูน่ากระป๋อง 3 ออนซ์ (85 g) มีวิตามินดี154 IU)นมและผลิตภัณฑ์จากนม


หากรับประทานวิตามินดีวันละ 20000 IU อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

หากรับประทานมากกว่า 1800 IU ต่อวัน อาจทำให้เกิดภาวะวิตามินดีเกินในเด็ก


อาการที่บ่งว่ามีวิตามินดีมากเกินไป ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดกระหายน้ำมากผิดปกติ เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บตา คันตามผิวหนัง อาเจียน ท้องร่วง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีหินปูนแคลเซี่ยมสะสมที่ผนังหลอดเลือด ตับ ปอด ไตและกระเพาะอาหาร


ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีมลพิษควันดำหนาแน่นควรรับประทานวิตามินดีเพิ่มขึ้น ผู้ที่ทำงานกะกลางคืนและผู้ที่ไม่ค่อยได้ตากแดด ควรรับประทานวิตามินบีเพิ่ม หากกำลังรับประทานยากันชัก ควรต้องรับประทานวิตามินดีเพิ่ม


จากการวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ใน Bangkok Medical Journal ปี 2015 เก็บข้อมูลพนักงานออฟฟิศ 211 แห่งทั่วกรุงเทพ พบว่า 36.5% หรือทุก 1 ใน 3 คนของพนักงานออฟฟิศขาดวิตามินดี นอกจากนี้คนบางกลุ่มยังมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดีมากกว่าคนทั่วไป เช่นคนที่มีผิวสีเข้ม (Dark – Colored Skin) ผู้สูงอายุ (Elderly Patients) ผู้ป่วยโรคไต(Kidney Diseases) ผู้ป่วยโรคตับ (Liver Diseases) และคนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน(Obese Patients)


เด็กและวัยรุ่นที่ยังไม่ได้ดื่มนมที่มีวิตามินดีอย่างน้อย 500 ซีซีต่อวันควรรับประทานอาหารอื่นที่มีวิตามินดีสูง หรือรับประทานวิตามินรวม ที่มีวิตามินดีรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 200 IU


คนผิวเข้มที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือหรือบริเวณที่มีแดดน้อยควรรับประทานวิตามินดีเพิ่ม(คนผิวคล้ำมีประสิทธิภาพในการผลิตวิตามินดีน้อยกว่าเนื่องจากเมลานินในผิวหนังขัดขวางการสังเคราะห์วิตามินดี การขาดวิตามินดีเป็นเรื่องปกติในชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกและแอฟริกัน-อเมริกันในสหรัฐอเมริกา โดยจะมีระดับลดลงอย่างมากในฤดูหนาว เป็นเพราะระดับของเมลานินในผิวหนัง เนื่องจากทำหน้าที่เป็นสารปกป้องตามธรรมชาติจากแสงแดด) 


หากอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการมีวิตามินดีในร่างกายต่ำ การศึกษาพบว่าการเสริมด้วย 800 IU หรือมากกว่าทุกวันสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ค่อนข้างดีในการป้องกันการแตกหักของกระดูกสะโพกและการแตกหักแบบไม่ใช้กระดูกสันหลัง


สามารถตากแดดโดยไม่ทาครีมกันแดดเพื่อรับวิตามินดีได้

แต่อย่าลืมที่จะปกป้องผิวด้วยการจำกัดเวลาในการออกแดดให้เหมาะสม


อย่าให้สุนัขหรือแมวรับประทานรับประทานวิตามินดีเสริม ยกเว้นสัตวแพทย์แนะนำ


วิตามินดีทำงานร่วมกับวิตามินเอ ซีและโคลีน


ส่วนใหญ่หรือแทบทุกคน จะตรวจระดับวิตามินดีก่อนรับประทานอาหารเสริม


ราคาค่าตรวจในเมืองไทยแต่ละแห่งไม่เท่ากัน เช่น รพ.พญาไทนอกจากตรวจระดับวิตามินดียังเพิ่มการตรวจความหนาแน่นของกระดูก ช่วงนี้มีโปรโมชั่น ปกติ 7000 บาทลดเหลือ 3000 บาท,รพ.เกษมราฎร์ รามคำแหง ราคา ~4050 บาท,รพ.สมเด็จเจ้าพระยาราคา ~3500 บาท)


การขาดวิตามินดี อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อ หรือ immune response ของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอ จะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี 


 กลไกการเกิดความรุนแรงของผู้ป่วย COVID-19 ไม่เพียงแต่เกิดจากตัวไวรัสโดยตรงแต่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อตัวเชื้อ โดยเม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินควบคุมที่เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์และระบบต่างๆในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด


อย่างไรก็ตาม ร่างกายจะสร้างกระดูกในช่วงอายุ 20 ปีแรก ซึ่งวิตามินดีมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูก หลานชายแป้งปัจจุบันอายุ 17 ปี สูง178 cm.ตอนที่น้องยังเล็ก แป้งอดห่วงหลานไม่ได้ กลัวว่าหลานน่าจะไม่สูงเพราะทั้งพ่อและแม่ไม่สูง นมไม่ค่อยดื่มและอาหารปกติไม่ค่อยกินเท่าไหร่ 


แป้งคิดว่า สิ่งที่มีส่วนให้น้องสูงได้คือ การตากแดด ซึ่งตอนอายุ 3-7 ปี เห็นหลานวิ่งเล่นกลางแดดจนตัวดำ พอโตขึ้นเรียนประถมก็ยังตากแดดเหมือนเดิม จนขึ้นม.ปลายกลายเป็นติดโซเชียล อยู่แต่ในห้อง ก้มหน้าก้มตาไถกระดานชนวน 


ส่วนลูกชายเพื่อนสมัยม.ต้น ปัจจุบันอายุ 13 ปี พ่อไม่สูง แม่เข้าข่ายเตี้ย แต่ลูกชายกลับสูง 178 cm.นอกจากดื่มนมเยอะ อีกสิ่งหนึ่งที่แป้งสังเกตคือ น้องเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่นเตะฟุตบอลตากแดดจนตัวดำ ไปหาเพื่อนคนนี้ทีไร น้องจะกลับมาจากการเล่นกีฬา มองเห็นชัดเจนว่า ตัวดำขึ้นและสูงขึ้นทุกปีค่ะ







ที่มา:


https://sverigesradio.se/artikel/6120407


https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D


วงกลมอาร์กติก - วิกิพีเดีย


วิตามินดี วิตามินที่ถูกลืม | Bangkok Hospitalhttps://www.bangkokhospital.com › content › vitamin-d-f...


การตรวจระดับวิตามินดีในเลือด 25-OH-Vitamin D3/D2 in serum ...http://www.ams.cmu.ac.th › amscsc › prnews


Vitamin bible


ประโยชน์ 'วิตามินดีมีดีต่อ 'สุขภาพมากกว่าที่คิด - กรุงเทพธุรกิจhttps://www.bangkokbiznews.com › ไลฟ์สไตล์


บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน - วิตามินดี ประโยชน์ดีๆ มีมากกว่าที่...https://pharmacy.mahidol.ac.th › วิตามีนดี-VitaminD


 https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/958


ความลับฤดูร้อนในสแกนดิเนเวีย


https://sciencenordic.com/a/1409600

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ไขปัญหานานาวิตามิน volume 1

เรียนแจ้งทุกท่านเพื่อโปรดทราบ

แป้งย้ายการตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ

และผิวพรรณประจำสัปดาห์มายัง https://pangpungpond.blogspot.com/ เนื่องจากเกิดปัญหาบางประการในการใช้งานเว็ปพันทิป


ดังนั้นจึงเปิดบล็อกไขปัญหานานาวิตามิน volume 1

กรุณาแจ้งอายุ ส่วนสูงและน้ำหนักมาพร้อมปัญหาสุขภาพและผิวพรรณมาด้วยทุกครั้งเพราะหลายครั้งคำตอบอยู่ในข้อมูลส่วนนี้ค่ะ


รบกวนทุกท่านส่งคำถามมายัง blog นี้

ตั้งแต่วันที่  19 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

 

แป้งจะมาตอบทุกปัญหาเท่าที่ค้นข้อมูลมาได้ เป็นประจำทุก

วันอาทิตย์-จันทร์

โดยปิดรับคำถามทุกวันเสาร์ เวลา 12.00 .

หากเกินกว่านั้น ขออนุญาตยกยอดไปตอบในครั้งถัดไป ต้องขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ

 

ทั้งนี้จะตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและผิวพรรณผ่านบล็อกไขปัญหานานาวิตามิน volume 1 อย่างละเอียดเพียงแห่งเดียวเท่านั้นนะคะ






ขอบคุณมากมายที่อยู่เป็นเพื่อนกันมานานนับ 10 ปี(ยอดคลิกอ่านบล็อกล่าสุด 1,405,250 ครั้ง จากจำนวนบทความ 222 บล็อกและเสียสละเวลาอ่านจนจบค่ะ


แป้งปังปอนด์💖💗💖


ข้อความด้านล่างเป็นคำตอบของสัปดาห์ที่ผ่านมา แป้งยกคำตอบทั้งหมดมาไว้ที่นี่แล้วนะคะ

ทำความเข้าใจให้ถูก ภูมิคุ้มกันลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


“หมออดุลย์” ชวนทำความเข้าใจการทำงานของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำไมภูมิคุ้มกันลดลง ทำไมต้องฉีดเข็มกระตุ้น ย้ำภูมิคุ้มกันที่ลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune  ถึงการทำงานของวัคซีนป้องกันโควิด และสาเหตุที่ภูมิคุ้มกันลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก โดยระบุว่า


ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่ลดลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไปถูกขับออก


ได้ยินพิธีกรในรายการวิทยุพูดถึงว่า หลังฉีดวัคซีน เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันที่ลดลงเพราะวัคซีนที่ฉีดเข้าไป ถูกร่างกายขับออก จึงเหลือภูมิน้อยลง


มีความเข้าใจ เหมือน ยากิน ยาฉีด ที่เมื่อเรา กิน หรือ ฉีดเข้าไปในร่างกายเราแล้ว จะมีปริมาณยาน้อยลง เพราะ ตับ กับ ไต ขับยาออกไปจากร่างกาย


แต่วัคซีน ไม่ใช่แบบนี้ครับ


ในกรณีวัคซีน จะต่างกับยาอื่น ๆ แบบกลับด้านกันเลยครับ


ยาทั้งหลายที่เรากิน หรือฉีดเข้าไป ยานั้น เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้น ถ้ามียามากพอจะฆ่าเชื้อได้มาก เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายขับยาออก ฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคจะน้อยลง จึงต้องกินยาซ้ำ หรือฉีดยาซ้ำ เพื่อเพิ่มวัตถุออกฤทธิ์เข้าไปในร่างกายเรา



วัคซีน ทำงานคนละอย่าง เพราะวัตถุออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเอง ไม่ใช่วัคซีนที่ฉีดเข้าไป


วัคซีน เพียงทำหน้าที่เรียกแขก กระตุ้นในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเตรียมพร้อม ที่จะฆ่าเชื้อโรค เหมือนครูฝึก รด. ที่ คอยเป่านกหวีด เรียกนักศึกษาวิชาทหาร ให้ลุกขึ้นเตรียมตัวสำหรับฝึกในการสู้รบ


ดังนั้น วัคซีน หรือครูฝึกยังทำงานอยู่ จะมีคนมาคอยปลุกให้เม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันขยัน และพร้อมที่จะสู้กับเชื้อโรค



แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ฝึก หรือเตรียมพร้อมสำหรับสู้กับเชื้อโรคโควิด-19 ภูมิคุ้มกันก็จะหย่อนประสิทธิภาพลดลง จึงต้องมีวัคซีน เข็ม 2 เข็ม 3 เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกัน กลับมาขยันฝึกซ้อม ให้พร้อมที่จะสู้กับเชื้อโรค


ไม่ได้เกิดจากวัคซีนถูกขับออกจากร่างกาย เพราะวัคซีนทำหน้าที่ในตอนที่ฉีด เพียงไม่กี่วันก็หมดหน้าที่แล้ว ไม่ได้อยู่ในร่างกายเรา 3 เดือน 6 เดือนอย่างที่เข้าใจหรอกนะครับ


นอกจากวัคซีนแล้ว การได้สัมผัสเชื้อโรคก็เป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในการสู้กับเชื้อโควิด-19 ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนแล้ว ไม่เคยได้เจอเชื้อโรคตัวจริงเลย เป็นเวลานาน ๆ ภูมิต้านทานก็จะค่อย ๆ ลดลง เลยเป็นเหตุให้ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ



สาเหตุภูมิคุ้มกันลดลง หลังฉีดวัคซีน

แต่ในทางกลับกัน เมื่อเราฉีดวัคซีนแล้ว มีภูมิพอที่เราจะไม่ป่วยหนัก หรือ ไม่ป่วยตายแล้ว หากเราออกมาใช้

ชีวิตตามปกติ เจอเชื้อโรคปริมาณน้อย ๆ บ้าง เชื้อโรคเหล่านั้น ก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเราให้แข็งแรงขึ้น โดยที่ไม่เจ็บป่วย และไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำ ภูมิคุ้มกันเราก็จะยังแข็งแรงอยู่เรื่อย ๆ ไม่หายไป


ที่สำคัญคือ การใส่หน้ากากตลอดยังจำเป็น แต่ไม่ใช่เพื่อไม่ให้เรารับเชื้อ แต่เพื่อเวลาเราเกิดติดเชื้อขึ้นมา จะได้ไม่เป็นคนแพร่เชื้อ ไปให้คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (เพราะกลุ่มนั้นหากรับเชื้อ อาจป่วยหนักหรือตายได้)

ภูมิคุ้มกันที่น้อยลง ไม่ใช่เพราะวัคซีนถูกร่างกายขับออกนะครับ วัคซีนที่ฉีดเข้าไป หายไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรกแล้วครับ แต่ภูมิที่ลดลง เพราะระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกกระตุ้น ให้ฝึกฝน ให้แข็งแรง พร้อมจัดการเชื้อโรคครับ


หย่อนการฝึกฝนครับ ไม่ใช่ถูกขับออกครับ


ที่มา : 

www.Thairath.co.Th/news/local/2220011



วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

5 อาหารเสริมกับการกระตุ้นสิว


เคยมีใครบางคนกำลังประสบกับการเกิดสิวขณะรับประทานอาหารเสริมหรือเปล่าค่ะสิวสามารถเกิดขึ้นหรือทำให้รุนแรงขึ้นได้ด้วยอาหารเสริม แม้แต่อาหารเสริมที่ดูเหมือนไม่มีพิษภัย 


ผู้ร้ายหลักที่ก่อให้เกิดสิวคือ อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของวิตามิน B6,B12, ไอโอดีน,เวย์โปรตีน,คอลลาเจนและอาหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่อาจปนเปื้อนด้วยยา Anabolic androgenic steroids (มีผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 50% ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและหลายคนต่อสู้กับสิวที่อธิบายไม่ได้)


1.ไอโอดีน


 สิวที่เกิดจากไอโอดีนเป็นสิวที่มีลักษณะตุ่มนูน สีแดง บนใบหน้าและลำตัวส่วนบน  ไอโอดีนสามารถทำให้สิวที่มีอยู่รุนแรงขึ้น ไอโอดีนพบได้ในอาหารเสริมสาหร่ายเคลป์(Kelp)นอกเหนือจากวิตามินและแร่ธาตุอีกมากมาย


2. เวย์โปรตีน


 เวย์โปรตีนเกี่ยวข้องกับสิวตุ่มหนองที่พบในลำตัวและใบหน้า  เวย์โปรตีนผลิตมาจากนม ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนทรงกลมที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตชีส  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีนเป็นที่นิยมสำหรับการเพาะกายของวัยรุ่นอเมริกา 


เวย์โปรตีนส่งเสริมการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ เพราะอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่ให้สารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน  ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีนจะพบผลข้างเคียงคือ เกิดสิวที่มีลักษณะตุ่มนูน สีแดง และตุ่มหนอง สิวประเภทนี้มักพบในนักเพาะกายชายที่ใช้อาหารเสริมเวย์


3.วิตามิน B6,B12

อาหารเสริมวิตามิน B6 และ B12 ปริมาณสูงนำไปสู่สิว Monomorphic แม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุของโรค Monomorphic (รอยโรคจากสิวมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน)อาหารเสริมที่มีวิตามิน B6 และ B12 ปริมาณสูงอาจทำให้สิวที่มีอยู่แย่ลง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  


 วิตามินบี 12 ยังแสดงให้เห็นว่า ช่วยการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนของแบคทีเรียPropionobacterium Acnes(P.acne)ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่อยู่เบื้องหลังการเกิดสิว


4.Anabolic-androgenic steroids(อนาบอลิก แอนโดรจินิก 

สเตียรอยด์)


การเกิดสิวที่เกิดจาก Anabolic androgenic steroids (AAS) จัดเป็นสิวรุนแรงที่สุดที่เกิดจากอาหารเสริม  นักเพาะกายมักใช้ AAS เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ  แม้ว่าจะเป็นการไม่ใช้สเตียรอยด์โดยตรง

แต่สเตียรอยด์มักมีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับการเพาะกายทั่วไป


องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา(FDA) มีการศึกษาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 776 รายการ  พบว่า 89.1% ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสร้างกล้ามเนื้อปนเปื้อนด้วยสเตียรอยด์สังเคราะห์  นอกจากนี้ยังพบว่า AAS ทำให้สิวที่มีอยู่รุนแรงขึ้น


สเตียรอยด์ (Steroids) เป็นชื่อเรียกโดยย่อของกลุ่มยาที่มีชื่อเต็มว่า Anabolic Androgenic Steroids หรือเรียกว่า Anabolic Steroids เป็นยาที่สังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับ

เทสโทสเตอโรนในการช่วยให้กล้ามเนื้อเจริญเติบโต ด้วยการฉีดสารสเตียรอยด์เข้าไปในกล้ามเนื้อส่วนต่าง  หรือรับประทานทางปาก 


สเตียรอยด์ (Steroids) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง  ภายในร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ กดภูมิคุ้มกัน ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำสเตียรอยด์มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย หรือแม้แต่ใช้ในวงการเสริมความงาม


สเตียรอยด์แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่  ดังนี้

1.คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งเป็นการสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยหวังผลในส่วนของฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกาย 


แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

1.ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) เช่น ยาหยอดตา ยาพ่นจมูก ยาสูดพ่นทางปากและยาทาผิวหนัง หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่

2.ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายทุกระบบ เช่น ยาฉีดและยารับประทาน ส่วนใหญ่มักใช้ลดการอักเสบภายในหรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และอาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง เป็นต้น


2.ยาอนาบอลิก-แอนโดรจีนิก สเตียรอยด์(Anabolic Androgenic Steroid: AAS หรือเรียกว่า อนาบอลิก สเตียรอยด์


โดยปกติแล้วฮอร์โมนสเตียรอยด์จะถูกผลิตออกมาเองตามธรรมชาติจากต่อมหมวกไตซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญ  ในร่างกายอีกหลายชนิด เช่น อะดรีนาลีน(Adrenaline )คอร์ติซอล (Cortisol)ฯลฯ

สเตียรอยด์ยังถูกมาผลิตเป็นยารักษาโรค และอาการเจ็บป่วยต่าง  อีกด้วย


ในประเทศไทย อนาบอลิก สเตียรอยด์ที่เป็นยาสังเคราะห์จะมีทั้งแบบรับประทานและฉีด มักจะถูกใช้กับนักกีฬาเพาะกายหรือคนที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อให้มีขนาดใหญ่ในเวลาไม่นาน


เทรนเนอร์ท่านหนึ่งเปิดเผยว่า เคยใช้อนาบอลิก สเตียรอยด์แบบเร่งด่วน โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก  สัปดาห์ละ 1 ครั้งและเพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อสัปดาห์เมื่อใกล้ถึงช่วงฤดูแข่งขัน(เพาะกาย)จนครบ 6 เดือนแต่ได้หยุดใช้อนาบอลิก สเตียรอยด์อย่างสิ้นเชิง เมื่อตรวจเลือดพบว่า ค่าไตมีการทำงานมากกว่าปกติถึง 3 เท่า ค่าตับสูงขึ้น มีโปรตีนรั่ว(กรวยไตอักเสบที่สำคัญมีคนในโรงยิมตาย 2 คน


แต่ในคนที่อายุยังน้อยประมาณ 25 ปีบางคน มีการฉีดสารอนาบอลิก สเตียรอยด์ต่อเนื่องหลายปี ค่าตับไตอยู่ในเกณ์ปกติ มีเลือดข้นหนืด หนวดเครายาวเร็วกว่าปกติ 


ผลข้างเคียงของอนาบอลิก สเตียรอยด์คือ  สิวขึ้น หนวดเครายาวเร็วเลือดข้น หงุดหงิดง่าย ผิวหนังไหม้ ผมร่วง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ


กลุ่มเภสัชจัดการปัญหาสเตียรอยด์ ได้ตรวจสอบเวย์โปรตีนที่สั่งมาจากร้านค้าออนไลน์และโรงยิม พบว่า มีหลายยี่ห้อที่ปริมาณโปรตีนไม่ตรงกับฉลากโภชนาการและปนเปื้อนยาอนาบอลิกสเตียรอยด์(Oxymetholone,Otanozolol)มากกว่า 25% โดย 3 ใน 5 

เป็นยี่ห้อที่มีอย.


16 มิ..2564 นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีนเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการตาม ...คุ้มครองผู้บริโภคฯ 


โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic - Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกายและทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนักว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่


จากผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิก สเตียรอยด์ แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนักไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนยี่ห้อหนึ่ง กลิ่นมอคค่า ทดสอบพบโปรตีน ร้อยละ 38.8 แต่ฉลากระบุว่ามีโปรตีน ร้อยละ83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนร้อยละ 26 แต่บนฉลากระบุว่ามีโปรตีน 62.5


อนาบอลิก สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มสารเคมีที่มีโครงสร้างเป็นสเตียรอยด์และมีฤทธิ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ สารกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ทำหน้าที่ให้ร่างกายเก็บกักกรดอะมิโนซึ่งเป็นวัตถุดิบโดยตรงในการสังเคราะห์โปรตีนได้มากขึ้น เรียกว่าเป็น ‘positive nitrogen balance’ เพิ่มกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน เพิ่มกระบวนการสังเคราะห์เม็ดเลือดแดงฯลฯ


อย่างไรก็ตาม อนาบอลิก สเตียรอยด์ เป็นสารเคมีที่ดัดแปลงโครงสร้างมาจากฮอร์โมนเพศชายตามธรรมชาติคือ เทสโทสเตอโรน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่อนาบอลิค สเตียรอยด์จะมีผลที่คนใช้ไม่ค่อยจะอยากได้เท่าไร นั่นก็คือ สิวหนอง ผิวมัน หัวล้าน หากใช้ระยะยาวนานอาจจะมีเต้านมโต


ดร.เจมส์ มอสส์แมน จากมหาวิทยาลัยบราวน์ของสหรัฐฯและศาสตราจารย์อัลลัน เพซีย์ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ของอังกฤษ 

เผยว่าพฤติกรรมย้อนแย้งดังกล่าวพบได้มากขึ้นเรื่อย  ในปัจจุบัน และกำลังบั่นทอนความสามารถในการเจริญพันธุ์ของเพศชายในวงกว้าง


ดร.มอสส์แมนอธิบายว่า "ผู้ชายที่ใช้สารสเตียรอยด์พยายามทำให้ตัวเองกล้ามโตและดูตัวใหญ่กว่าปกติ เหมือนกับลักษณะของเพศชายที่อยู่ในขั้นสุดยอดของวิวัฒนาการแต่แท้ที่จริงแล้ว พวกเขากำลังทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งชำรุดทางวิวัฒนาการมากกว่าเพราะแต่ละคนไม่มีเชื้ออสุจิเหลืออยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว"


การใช้สารจำพวกอนาบอลิก สเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) ซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่นักเพาะกาย ส่งผลเสียต่อความสามารถในการมีบุตรของผู้ชายอย่างมาก แม้ว่าสารดังกล่าวจะให้ผลเลียนแบบฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรน ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของกล้ามเนื้อได้ แต่ในขณะเดียวกัน สารนี้จะทำให้ต่อมพิทูอิทารีในสมองเข้าใจผิดว่าอัณฑะกำลังทำงานหนัก จนหยุดการผลิตฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยในการผลิตอสุจิไปอย่างสิ้นเชิง


การใช้สารอนาบอลิกสเตียรอยด์ ยังพบได้มากในหมู่คนที่มีปัญหาเรื่องผมบางศีรษะล้านอีกด้วย โดย .เพซีย์ บอกว่า "ปัญหานี้ยังพบได้น้อยกว่ากรณีการใช้สเตียรอยด์สร้างกล้ามเนื้อ แต่ปัจจุบันยอดขายยาป้องกันหรือรักษาศีรษะล้านกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่าจำนวนผู้ชายที่มีบุตรยากจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกในอนาคต"


"อัตราความเสี่ยงเป็นหมันของผู้ชายที่ใช้สเตียรอยด์นั้นมีมากกว่าที่เคยเข้าใจกัน เรียกได้ว่าอาจมีความเสี่ยงสูงถึง 90% เลยทีเดียวเพซีย์กล่าว


5.คอลลาเจน


แม้ว่าอาหารเสริมคอลลาเจนจะเป็นที่รู้จักกันดีในการซ่อมแซมสภาพผิว แต่บางชนิดอาจมีซัลไฟต์ซึ่งสามารถทำให้ผิวของเราแออัดและนำไปสู่การเกิดสิวขึ้นได้


สารในกลุ่มซัลไฟด์ในอาหารส่วนใหญ่จะใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) ที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาถูก ง่ายต่อการใช้งาน ช่วยยับยั้งการเจริญของยีสต์ (yeast) รา(mold) และแบคทีเรีย (bacteria) เช่น ใช้ฆ่าจุลินทรีย์ในการทำไวน์ (wine) เบียร์ (beer) และใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกลือซัลไฟด์ เกลือโซเดียมและโปแตสเซียมของไบซัลไฟด์ (bisulfite) เมื่อถูกความร้อนจะสลายให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide : SO2) จะไปทำลายวิตามินบีเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีcarboxylic acid และตัวอื่นๆอีก


กลไกที่แน่นอนหรือการเกิดโรคของอาหารเสริมที่ทำให้เกิดสิวไม่ชัดเจน  เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า AAS( อนาบอลิก สเตียรอยด์)ช่วยเพิ่มไขมันบนผิว และเพิ่มกรดไขมันอิสระและปริมาณคอเลสเตอรอลของไขมันเหล่านี้  AAS ยังเพิ่มความหนาแน่นของสิวPropionobacterium(P.acne)บนผิวของเรา  การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังอาจช่วยระบุกลไกนี้ได้ในระดับหนึ่ง









ที่มา : 


Acne Caused By Aggressive Supplements - Dr David Kaplan apdkc . co m › acne-caused-by-aggre...


อาหารปลอดภัย....มีจริงหรือ ในประเทศไทย? (ตอนที่ 3) - ไทยรัฐออนไลน์ ww w.thairat h.c o.t h › ไลฟ์สไตล์ › ไลฟ์


กล้ามเช่า จากเวย์โปรตีนสู่อนาบอลิกสเตียรอยด์ - รายการไทยพีบีเอส progra m .thai pbs.o r. th › episodes


เตือนผู้ชายใช้สเตียรอยด์เสริมหล่อ เสี่ยงเป็น "สิ่งชำรุดทางวิวัฒนาการ ww w . BBC com› thai › international-484 32052


"เวย์โปรตีน"ไม่พบสเตียรอยด์-2ยี่ห้อปริมาณไม่ตรงฉลาก - ช่อง 8 ww w.thaich8 com › news_detail


!! เต้าโต หัวเถิก อัณฑะหด ความดัน โรคหัวใจ ฯ : อันตรายของ “กล้าม ...mgronlin e. co m › goodhealth › detail


“สเตียรอยด์” ฤทธิ์ครอบจักรวาล แต่หากใช้เกินจำเป็น ระวังผลข้างเคียง ...w ww .vejt hani .c om › 2018/06 › สเตียรอยด์ระวัง


เรื่องเล่าจากผลข้างเคียงของยา

หนึ่งในเหตุผลที่แป้งจะไม่ใช้ยารักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนเป็นตัวเลือกแรกเพราะเคยพบเจอกับผลข้างเคียงหลายอย่าง  ดังนั้นวิตามินจึงเป็นตัวเลือกอันดับห...

บทความยอดนิยม