เวลาที่เราไปเลือกซื้อผักและผลไม้ตามซุปเปอร์มาเก็ต จะพบว่า ผักผลไม้ชนิดเดียวกันมีราคาแพงกว่าที่วางจำหน่ายในห้างค้าส่ง ตอนแรกแป้งก็สงสัยว่า ทำไมราคาต่างกันเกือบเท่าตัว พอได้ซื้อแอปเปิ้ลฟูจิและส้มวาเลนเซียมาลองกินดู โอ๊ะ!! ความสด กรอบอร่อยของแอปเปิ้ลแตกต่างตามการคัดเกรด ส่วนส้มวาเลเซีย เนื้อส้มหวานฉ่ำ ไม่ฝ่อห่อเหี่ยวเหมือนซื้อจากห้างค้าส่งนะคะ
ใดๆคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 2 ที่ จะมีตราสัญลักษณ์แปะไว้ที่ผักว่า ผักปลอดภัย ผักออแกนิกมั่ง ตอนนั้นสังเกตเห็นแต่ไม่ได้สนใจใคร่รู้ คิดว่าปลอดสารพิษเหมือนๆกันล่ะมั๊งท่า สนใจราคามากกว่าอย่างอื่น พอมีข่าวองุ่นไซมัสแคทเท่านั้นแหละ อืม!! หาข้อมูลเพิ่มดีกว่า ชักอยากรู้แวดวงเกษตรกรรมขึ้นมาเชียว
ผักปลอดสารพิษ คือผักที่มีระบบการผลิตที่ใช้สารเคมีในการป้องกันและปราบศัตรูพืชรวมถึงปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ให้เว้นช่วงการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะยังมีสารเคมีตกค้าง แต่ไม่เกินในปริมาณที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยมีการขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ใบรับรองผักปลอดสารพิษ
ผักปลอดสารพิษแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. ผักปลอดสารเคมี (PESTICIDE FREE)
การปลูกผักปลอดสารเคมี จะเน้นการควบคุมการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แต่จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง (โดยจะยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและฮอร์โมนเร่งผลผลิต) หากแต่เป็นสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวจะต้องมีสารเคมีตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ไม่มีสารตกค้างเกินระดับมาตรฐาน จึงแน่ใจว่าเป็นผักปลอดสารเคมี
2. ผักอนามัย (PESTICIDE SAFE)
ผักอนามัยหรือเรารู้จักกันในชื่อของ “ผักกางมุ้ง” เป็นผักที่ยังคงใช้สารเคมีเพื่อการเจริญเติบโตและใช้สารกำจัดแมลง แต่จะเป็นสารเคมีที่มีพิษตกค้างในระยะสั้น และหยุดฉีดพ่นสารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
การปลูกผักประเภทนี้มีอยู่ 2 แบบ คือ การปลูกโดยใช้มุ้งตาข่ายหรือกางมุ้ง และอีกแบบจะไม่ใช้มุ้งตาข่าย แต่เน้นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน คือเน้นปลูกผักตามฤดูกาลร่วมกับผักประเภทกะหล่ำปลี ตั้งโอ๋ ซึ่งช่วยลดการระบาดของแมลงแถมเป็นผลดีต่อการค้าขายเพราะมีผักหลายชนิดวางจำหน่าย ส่วนการรับรองมาตรฐานจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผักปลอดสารพิษ
3.ผักไฮโดรโปนิกส์ (HYDROPONICS)
การปลูกผักประเภทนี้เป็นการปลูกโดยใช้น้ำแทนดิน โดยผสมอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตลงในน้ำ รากพืชที่สัมผัสน้ำจะดูดซึมสารอาหารสะสมไว้ที่ใบ ส่วนรากที่ไม่สัมผัสน้ำจะทำหน้าที่รับออกซิเจน ผักที่นิยมปลูกประเภทนี้ เป็นผักสลัดพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ
4.ผักเกษตรอินทรีย์ (ORGANIC FARMING)
เรารู้จักผักชนิดนี้ในชื่อเรียกว่า “ผักออร์แกนิก” เป็นผักที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงหรือฮอร์โมนต่าง ๆ การผลิตผักประเภทนี้จะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ส่วนการกำจัดศัตรูพืชจะใช้สารเคมีที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น สะเดา โล่ติ๊น จึงปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม
สารกำจัดแมลงแบบอินทรีย์ เป็นสารสกัดที่มาจากพืช ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตและมนุษย์ แต่สารกำจัดแมลงแบบอินทรีย์มักมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องฉีดบ่อยครั้ง ทั้งยังมีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงบางชนิด ไม่สามารถกำจัดได้อย่างครอบคลุม
ทําไมผลผลิตออร์แกนิกถึงมีสารกําจัดศัตรูพืช
ผู้บริโภคจํานวนมากเลือกอาหารออร์แกนิกเพราะเชื่อว่าปลูกและผลิตโดยไม่ใช้สารกําจัดศัตรูพืช เนื่องจากสารกําจัดศัตรูพืช
จํานวนมากถูกห้ามจากเกษตรอินทรีย์ นี่เป็นก้าวสําคัญในทิศทางที่ถูกต้อง แต่เกษตรกรเกือบทั้งหมดหรือแม้แต่เกษตรกรอินทรีย์จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิด แต่ใช้คนละชนิดกัน
สารกําจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่ในรายการ USDA Organic ของสารที่ได้รับอนุญาตมีต้นกําเนิดจากธรรมชาติ ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปได้รับอนุญาตให้ใช้สารกําจัดศัตรูพืชสังเคราะห์ 900 ชนิด แต่ทว่าเกษตรกรอินทรีย์ได้รับอนุญาตให้ใช้สารกําจัดศัตรูพืชสังเคราะห์เพียง 25 ชนิดเท่านั้น
ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ยุ่งยากกว่าการใช้ทางลัด เพราะต้องคำนึงหลายปัจจัย นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมพืชผักออร์แกนิกถึงมีราคาสูงกว่าปกติหลายเท่า แป้งลองซื้อผักบุ้งออร์แกนิกในซุปเปอร์มาเก็ต 150 กรัม ราคา 22 บาท เท่ากับโลละ 140 บาทแต่ซื้อผักบุ้งตลาดสดโลละ 20 บาท ต่างกัน 7 เท่า หรือผักกวางตุ้งฮ่องเต้ 200 กรัมราคา 40 บาท เท่ากับโลละ 200 บาท สภาพผักคือ สดมากๆ ผักต้นอ่อนทุกต้นเหมือนที่แม่แป้งปลูกเลย กรอบอร่อยสมราคา แต่แพงมาก ส่วนราคาตลาดสดไม่แน่ใจเพราะเหมือนจะไม่เห็นผักชนิดนี้ เคยเห็นแต่ผักคะน้าฮ่องเต้(สภาพผักแก่เชียว)เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่างๆที่เราแทบจะไม่เคยเห็นว่า ถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามท้องตลาดนั่นเอง
#ผักออร์แกนิก
#ผักปลอดสารพิษ
#ผักไฮโดรโปนิกส์
#ผักกางมุ้ง
#ผักอินทรีย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น