หากตามข่าวดีๆจะพบว่า สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชอยู่คู่กับคนไทยมาช้านานแล้ว แป้งคัดลอกข่าวบางส่วนมาให้อ่านกันนะคะ
29 ก.ย.2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินโครงการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้สด ตามเกณฑ์มาตรฐานของไทย
สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดทั้งหมด 41 ชนิดพืช รวม 7,054 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ผ่านมาตรฐานร้อยละ 88.8 ไม่ผ่านมาตรฐานร้อยละ 11.2 และเมื่อนำปริมาณที่ตรวจพบในผักและผลไม้สดมาประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค พบว่า ร้อยละ 99.86 อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
จากข้อมูลการตรวจของกระทรวงสาธรณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า
ผักและผลไม้สดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% มีจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก ส่วนข้าวโพดหวานพบสารพิษต่ำมาก
ผักและผลไม้สดที่พบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า ส้ม มะเขือเปาะ มะเขือเทศ แต่ทั้งนี้ยังมีความปลอดภัยในการบริโภค เนื่องจากสารตกค้างนี้จะเกิดอันตรายต่อเมื่อผู้บริโภค บริโภคในปริมาณมากเท่านั้น
ปลายปี 2563 "ไทยแพน" พบผักผลไม้ 58.7% มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน "องุ่นนำเข้า พุทราจีน พริก ขึ้นฉ่าย คะน้า มะเขือเทศเล็ก" เจอ 100%
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เผยผลการตรวจสอบผักและผลไม้ประจำปี 2563 โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โดยประกอบไปด้วย ผลไม้จำนวน 9 ชนิด อาทิ ส้มโอ, ส้มแมนดารินนำเข้า, ลองกอง, น้อยหน่า, แก้วมังกร, ฝรั่ง, ส้มสายน้ำผึ้ง, พุทราจีน และองุ่นแดงนอก
ส่วนผักจำนวน 18 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวโพดหวาน, มันฝรั่ง, หน่อไม้ฝรั่ง, กระเจี๊ยบเขียว, แครอท, ถั่วฝักยาว, บร็อกโคลี, หัวไชเท้า, ผักบุ้ง, มะระ, กะเพรา, กวางตุ้ง, ผักชี, มะเขือเทศผลเล็ก, คะน้า, ขึ้นฉ่าย, พริกแดง พริกขี้หนู และของแห้ง 2 ชนิด ได้แก่ พริกแห้ง และเห็ดหอม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา (ไม่รวมสารเคมีกำจัดวัชพืช) กว่า 500 ชนิด และได้รับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO17025)
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้เปิดผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีผักและผลไม้มากถึง 58.7% ที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ผักที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด คือ มะเขือเทศผลเล็ก พริกขี้หนู พริกแดง ขึ้นฉ่าย คะน้า พบตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมดทุกตัวอย่าง (100%) จากที่เก็บมาชนิดละ 16 ตัวอย่าง
*** หมวดผลไม้ที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด 8 อันดับแรก ได้แก่
1. องุ่นแดงนอก พบสารตกค้าง 100%
2. พุทราจีน พบสารตกค้าง 100%
3. ส้มสายน้ำผึ้ง พบสารตกค้าง 81%
4. ฝรั่ง พบสารตกค้าง 60%
5. แก้วมังกร พบสารตกค้าง 56%
6. น้อยหน่า พบสารตกค้าง 43%
7. ลองกอง พบสารตกค้าง 14%
8. ส้มแมนดารินนำเข้า พบสารตกค้าง 13%
ส่วนส้มโอไม่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน
*** หมวดผักสดที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. พริกขี้หนู-พริกแดง พบสารตกค้าง 100%
2. ขึ้นฉ่าย พบสารตกค้าง 100%
3. คะน้า พบสารตกค้าง 100%
4. มะเขือเทศเล็ก พบสารตกค้าง 100%
5. ผักชี พบสารตกค้าง 88%
6. ผักกวางตุ้ง พบสารตกค้าง 81%
7. กะเพรา พบสารตกค้าง 81%
8. ถั่วฝักยาว พบสารตกค้าง 44%
9.แครอท พบสารตกต้าง 19%
10.กระเจี๊ยบเขียว พบสารตกค้าง 6%
ส่วนมันฝรั่งพบการตกค้างในระดับไม่เกินมาตรฐาน และข้าวโพดหวานไม่พบการตกค้างเลย
สำหรับของแห้ง ได้แก่เห็ดหอมแห้งและพริกแห้งนั้น พบการตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยมากถึง 94% และ 88% ตามลำดับ
สำหรับแหล่งจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบระหว่างห้างกับตลาดสดทั่วไปนั้น พบว่า
1. ผักและผลไม้จากตลาดทั่วไป พบสารตกค้าง 60.1%
2.ห้างพบการตกค้างน้อยกว่าเล็กน้อยที่ระดับ 56.7%
ทั้งที่โดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผักผลไม้ราคาแพงกว่าตลาดสดทั่วไป
โดยในส่วนของตลาดสดทั่วไปนั้น มีการสุ่มตรวจผักจากตลาดทั่วประเทศ 10 จังหวัด พบว่า ตลาดจังหวัดนนทบุรีมีการพบตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐาน 72.4% และตลาดสดเชียงใหม่ตกค้างน้อยที่สุด 48.3%
สำหรับห้างค้าปลีกและสมัยใหม่(modern trade)นั้น ห้างค้าปลีกที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด เรียงลำดับได้แก่ แม็คโคร (69%) วิลล่ามาร์เก็ต (65.4%) เทสโก้ (56%) บิ๊กซี (51.7%) กูร์เมต์มาร์เก็ต (51.7%) และท็อปส์ (41.4%)
จากการตรวจพบสารเคมีที่แบนแล้ว (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4) จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมธามิโดฟอส เพ็นตาคลอโรฟีนอล และซัลโฟเท็พ รวมทั้งพบสารนอกบัญชีวัตถุอันตรายอีก 32 ชนิด ซึ่งผิดกฎหมายนั้น จะนำเอกสารนี้เพื่อขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการแก้ปัญหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้สด 144 ตัวอย่าง
พบตกค้างเกินค่ากำหนด 6.2%
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในปี 2566 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด เพื่อตรวจเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในตัวอย่างที่ส่งมาตรวจวิเคราะห์มีผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลเจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง หัวไชเท้า แครอท เห็ด ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง สาลี่ จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 144 ตัวอย่าง
โดยผลการตรวจวิเคราะห์ เป็นดังนี้
1.ไม่พบการตกค้าง คิดเป็นร้อยละ 81.9
2.พบการตกค้าง แต่ไม่เกินค่ากำหนดตามพระราชบัญญัติอาหาร ร้อยละ 11.8
3.พบการตกค้างเกินค่ากำหนดตามพระราชบัญญัติอาหาร ร้อยละ 6.2
ผักและผลไม้สดที่พบการตกค้างสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานกำหนด ได้แก่ คะน้าและส้ม
ถึงว่าคะน้าราคาถูกเพราะเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว คะน้าที่ปลูกในประเทศไทยมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-55 วัน(เกษตรกรก็ตัดขายได้แล้ว)หลังจากปลูก คะน้าอายุ45 วัน เป็นระยะที่ตลาดมีความต้องการมาก แต่คะน้าที่มีอายุ50-55 วันเป็นระยะที่เก็บเกี่ยวได้น้ําหนักมากกว่า(แป้งเจอบ่อยในห้างค่าส่งหรือตลาดสด ไม่ค่อยเจอคะน้าอ่อนยกเว้นคะน้าที่แม่ปลูกเอง อร่อย กรอบ ปลอดสารพิษ)
ก้านคะน้าแข็งยังกับสากกะเบือ ขนาดปอกเปลือกออกก็แล้ว คนที่ฟันฟางไม่ค่อยดี เลี่ยงได้เลี่ยง ยกเว้นคะน้าฮ่องกงจะกินได้ทั้งต้น)
วันก่อนแป้งไปเดินห้าง เผอิญได้ยินผู้ใหญ่คุยกันถามความหลังสารทุกข์สุกดิบ พี่ผู้หญิงหนึ่งในวงบอกว่า เพิ่งเลิกทำสวนทุเรียน อีกคนท้วงว่า ทำไมเลิกเป็นเศรษฐีทุเรียนล่ะ
แกตอบว่า ‘‘ให้คนอื่นทำต่อ ไม่ไหวอายุมากแล้ว ฉีดยาทุเรียนเยอะเกิน ’’แป้งได้ยินแล้วขนลุกเพราะเพิ่งตะหนักถึงต้นทางห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าพืชผักผลไม้อะไรก็ตาม หากไม่ฉีดยาฆ่าแมลง ผลผลิตจะสูญเปล่าเพราะแมลงศัตรูพืชกินเรียบ มิน่าล่ะ !! ผักออแกนิคถึงได้มีราคาแพงเป็น 2-3 เท่าตัว
ที่มา :
'ผักผลไม้'ที่มีสารพิษตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ : องุ่นนำเข้า พุทราจีน ...bangkokbiznewshttps://www.bangkokbiznews.com › health
กรมวิทย์เผยผลตรวจผักผลไม้พบสารตกค้างเกินกำหนด 6.2% ส่วน ...Hfocus.orghttps://www.hfocus.org › content › 2023/10
เช็กผักผลไม้ 6 อันดับ สารพิษตกค้าง-ปลอดสาร 100%Thai PBShttps://www.thaipbs.or.th › ข่าว › สังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น