บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

เรื่องราวน่ารู้ของคอเลสเตอรอล(cholesterol)



เช่นเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ไขมันก็เช่นกัน คนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดว่า ไขมันทุกชนิดไม่ดีต่อร่างกาย ซึ่งไม่ใช่ความจริงแม้แต่น้อย และไขมันตัวที่ถูกใส่ร้ายบ่อยกว่าใครเพื่อน คือคอเลสเตอรอล(cholesterol)

มีคนจำนวนไม่มาก ทราบกันดีว่า คอเลสเตอรอลเป็นสาเหตุของโรคผนังหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจ และโรคต่างๆมากมาย แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า คอเลสเตอรอลจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์

อย่างน้อย 2/3ของคอเลสเตอรอลในร่างกาย ถูกสร้างจากตับหรือลำไส้ ทั้งยังพบได้ในสมอง ต่อมหมวกไต และเยื่อหุ้มเส้นประสาท

มีประโยชน์อย่างไร

1.คอเลสเตอรอล(cholseterol)ที่ผิวหนังจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินดีที่มีประโยชน์กับร่างกาย เมื่อได้รับการกระตุ้นจากรังสียูวีในแสงแดด หมายความว่า เราต้องไปยืนที่มีแสงแดดส่องถึงก่อนเวลา 9.00น.เพื่อให้มีการสังเคราะห์โคเลสเตอรอล แต่ถ้าโดนแดดหลังเวลา 10.00น.หน้าจะไหม้แถมได้กระ ฝ้าเป็นของแถมติดตัวไปตลอดชีวิตค่ะ

2.คอเลสเตอรอล(cholesterol)มีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหารในกลุ่มแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต (ยิ่งรับประทานแป้งมาก ร่างกายจะสร้างคอเลสเตอรอลมากขึ้นตาม)

3.คอเลสเตอรอล(cholesterol)เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างฮอร์โมนกลุ่มสเตรียรอยด์จากต่อมหมวกไต ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิต เช่น คอร์ติโซล(cortisol)

4.คอเลสเตอรอล(cholesterol)เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย อีกทั้งยังจำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิง

ความแตกต่างของคอเลสเตอรอล(cholesterol)แต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับโปรตีนที่เกาะด้วย 

ไลโปโปรตีน(lipoprotein)เป็นโปรตีนในเลือด
 ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอล(cholesterol)

แบ่งออกเป็น 5 ชนิดดังนี้
1.ไคโลไมครอน (Chylomicron) จะสร้างที่ลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ขนส่งอาหารไขมันที่เรารับประทาน แล้วนำโคเลสเตอรอลบางส่วนไปเก็บไว้ที่ตับ จากนั้นจึงลำเลียงไตรกลีเซอไรด์ไปไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน 

การมีระดับไคโลไมครอนสูง (Hyperchyromicronemia) เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูง และระดับของไคโลไมครอนจะสูงภายใน 3-4 ชม. ภายหลังรับประทานอาหารไขมัน และจะหมดไปใน 12-14 ชม. 

หากรับประทานอาหารที่มีไขมันเกินความสามารถของร่างกาย ในการเผาผลาญไตรกลีเซอไรด์เป็นพลังงานให้หมด ร่างกายจะสะสมทำให้เกิดโรคอ้วนในที่สุด



2.ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำมาก (Very low density lipoprotein : VLDL )

ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำมาก(VLDL)มีเพียงร้อยละ15ของคอเลสเตอรอลในเลือด แต่เป็นสารที่ตับต้องการเพื่อใช้ในการสร้างแอลดีแอล(LDL) ยิ่งมีแอลดีแอลมาก ตับจะยิ่งส่งแอลดีแอลออกมามาก และเราจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นด้วย ว๊าย! น่ากลัวแท้

3.ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นปานกลาง (Intermediate density lipoprotine : IDL)
เมื่อไตรกลีเซอไรด์ ใน VLDL และไคโลไมครอนนำไปใช้เป็นพลังงานแล้ว อนุภาคของ VLDL จะเล็กลงเรียกว่า IDL โดยมีสัดส่วนของไตรกลีเซอไรด์ และโคเลสเตอรอลใกล้เคียง ทั้งนี้ IDL จะเป็นสารตั้งต้น (Precursor) ของไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low density lipoprotine : LDL)

4.ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low density lipoprotine : LDL)

ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ(LDL)มีจำนวนประมาณร้อยละ65ของคอเลสเตอรอลในเลือด และจัดว่าเป็นผู้ร้ายที่คอยขนถ่ายคอเลสเตอรอลไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับสารอื่นๆจะกลายเป็นคราบอุดตันเส้นเลือด 

5.ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง (High density lipoprotine : HDL )

ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง(HDL)มีประมาณร้อยละ 20 ของคอเลสเตอรอลในเลือดทั้งหมด มีส่วนประกอบหลักคือเลซิทิน ทำหน้าที่ล้างคราบไขมันจากผนังหลอดเลือดและคอยขนถ่ายคอเลสเตอรอล โดยไม่ทำให้เกิดการอุดตัน 

การศึกษาล่าสุด พบว่า ผู้ที่มีสะโพกใหญ่แต่เอวบาง 
จะมีเอชดีแอล(HDL)สูงกว่าผู้ที่อ้วนลงพุง ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายว่าเพราะเหตุใดผู้หญิงจึงมีอายุยืนกว่าผู้ชายถึงแปดปีโดยเฉลี่ย ถึงว่าสิ ผู้ป่วยที่ทำ bypass หัวใจ ส่วนใหญ่มีแต่เพศชายทั้งสิ้น แต่คงมีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ฯลฯ


สั้นๆง่ายๆคือ ยิ่งมี HDL มาก ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจจะยิ่งน้อยลง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าอัตราการบริโภคไข่ในสหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของเมื่อปีค.ศ1945 แต่อัตราการเป็นโรคหัวใจไม่ได้ลดลงตามไปด้วย และแม้ว่าสมาคมโรคหัวใจ สหรัฐอเมริกาจะลงความเห็นว่า ไข่มีอันตราย แต่การไม่รับประทานเลยก็อาจมีอันตรายพอกัน ไข่ไม่เพียงแต่จะเป็นโปรตีนสมบูรณ์แบบที่สุดกว่าอาหารอื่น มันยังมีเลซิทิน(lecithin)ซึ่งช่วยในการดูดซึมไขมัน ที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยเพิ่มระดับของเอชดีแอลได้อีกด้วย

สารต้านไขมัน คืออะไร
เมไทโอนีน(methionine)โคลีน(choline)อินอซิทอล(inasitol)และบีเทน(betaine)

ล้วนจัดเป็นสารต้านไขมัน(lipotropics)ซึ่งหมายความว่า หน้าที่หลักของมันคือ ป้องกันการสะสมของไขมันที่ตับไม่ให้มากเกินควรหรือผิดปกติ นั่นเอง

ทุกคนล้วนต้องการสารต้านไขมัน บางคนอาจต้องการมากกว่าคนอื่นๆโดยเฉพาะผู้ที่รับประทานอาหารโปรตีนสูงจะต้องการมากกว่าผู้อื่น

เมไทโอนีนและโคลีน จำเป็นต่อการขับสารเอมีน(amine) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญโปรตีน

เพราะคนส่วนใหญ่รับประทานอาหารในกลุ่มไขมันมากเกินไป ซึ่งไขมันที่เรารับประทานเป็นไขมันอิ่มตัว สารต้านไขมันจึงจัดเป็นส่งจำเป็นต่อร่างกาย ด้วยบทบาทในการช่วยตับสร้างเลซิทิน จึงถือได้ว่า มันช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอลสะสมที่ผนังหลอดเลือด ลดโอกาสการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดแข็งตัว และลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอีกด้วย

เรายังต้องการสารต้านไขมันเพื่อการมีสุขภาพดี เพราะช่วยต่อมไทรอยด์ในการกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน รวมถึงกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์(phagocites) ซึ่งทำหน้าที่ล้อมกรอบและกลืนไวรัส เชื้อโรคต่างๆและช่วยในการทำลายเนื้อเยื่อแปลกปลอมหรือผิดปกติอีกด้วย

บางทีเราอ่านเรื่องเหล่านี้ อาจเบ้ปากมองบนหรือไม่ใส่ใจ แต่ในความเป็นจริง ไขมันเหล่านี้มีความสำคัญกับร่างกายมนุษย์มากถึงมากที่สุด ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการ bypass หรือใส่ stent เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆปี ทำไมเราต้องหอบเงินหลักแสนจนถึงหลักล้าน ไปมอบให้โรงพยาบาลด้วยล่ะค่ะ 

เริ่มต้นดูแลตัวเองและคนรอบข้างตั้งแต่วันนี้ ด้วยการเลือกรับประทานที่ดีต่อสุขภาพ งดอาหารหวาน งดอาหารไขมันสูง เพิ่มผัก ผลไม้และธัญพืช ในทุกมื้ออาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ สุขภาพดีจะคงอยู่กับเราตลอดไปค่ะ




ที่มา
Vitamin bible
158.108.70.5>lipida>lipoprotein



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เรื่องเล่าจากผลข้างเคียงของยา

หนึ่งในเหตุผลที่แป้งจะไม่ใช้ยารักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนเป็นตัวเลือกแรกเพราะเคยพบเจอกับผลข้างเคียงหลายอย่าง  ดังนั้นวิตามินจึงเป็นตัวเลือกอันดับห...

บทความยอดนิยม