บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แคลเซียม ( calcium ) กับความเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด

มีผู้หญิงมากมายหลายล้านคนที่ทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกพรุนทั่วโลก เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับอายุขัยความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกระบบอวัยวะ หากเรารู้จักดูแลตัวเองแต่เนิ่นๆและเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
รู้ก่อนได้เปรียบกว่าเสมอนะคะ 

วันนี้แป้งมีเรื่องราวของวิตามินที่เรียกได้ว่า นิยมรับประทานทั่วบ้านทั่วเมือง คือแคลเซียม ( calcium ) มาให้ได้อ่านกันนะคะ

เรามาดูกันเลยว่า หากไม่ใช่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง ) และสตรีมีครรภ์ ควรรับประทานแคลเซียมที่เป็นอาหารเสริมหรือไม่

แคลเซียมมีประโยชน์อย่างไร
1.แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสุขภาพกระดูกเหงือกและฟัน 
2.ป้องกันการเกิดโรคอ้วน ระดับแคลเซียมที่สมดุล จะช่วยรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมทั้งในเพศชายและหญิง 
3.ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปริมาณแคลเซียมเพียงพอ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงโดยรวมของมะเร็งลำไส้ใหญ่และยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง 
4.ป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ( Premenstrual )  เช่น เวียนศีรษะ,อารมณ์แปรปรวนความดันโลหิตสูง,ซึมเศร้า
5.ป้องกันการเกิดนิ่วในไต ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยพบว่า หากปริมาณแคลเซียมสูงหรือการดูดซึมแคลเซียมสูงในร่างกาย จะทำให้เกิดนิ่วในไต 

การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การบริโภคอาหารแคลเซียมจากธรรมชาติในอัตราสูง สามารถลดความเสี่ยงของโรคนิ่วในไตได้มาก ซึ่งระยะสั้นอาหารธรรมชาติที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ไม่ก่อให้เกิดนิ่วในไต

 แต่ปัจจุบันแคลเซียมส่วนเกิน จะทำให้เกิดนิ่วในไต นอกเหนือจากปัจจัยอื่น  เช่น การบริโภคอาหารที่มีออกซาเลตสูงจากผักใบเขียว เช่น ใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมาก อาจทำให้เกิดนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้เนื่องจากใบชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 1,088 มิลลิกรัม และใบยอ 100 กรัม มีสารออกซาเลต 387.6 มิลลิกรัม ออกซาเลตที่มากเกินไป จะตกผลึกเป็นนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้

ออกซาเลต (oxalate) เป็นสารมีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด  มีผลเสียต่อร่างกายคือ หากรับประทานเป็นประจำทุกวัน ในปริมาณมาก ออกซาเลตจะเข้าไปตกผลึกสะสมในไตและกระเพาะปัสสาวะทำให้เป็นนิ่ว

พืชที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ หน่อไม้ คะน้า ผักโขม ใบชะพลู ใบชา หัวผักกาด โกโก้ กลอย บอน

6.ปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ แคลเซียมช่วยปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ ปริมาณที่เหมาะสมของแคลเซียม จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจจะหดตัวและคลายตัวอย่างเป็นจังหวะ อืม!! สำคัญเหมือนกันนะเนี่ย

7. แคลเซียมช่วยให้ระบบประสาท รักษาความดันที่เหมาะสมในหลอดเลือดแดง หากมีการลดลงของแคลเซียม  ฮอร์โมนที่เรียกว่า calcitrol จะถูกปล่อยออกมาในกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดง ขณะที่ฮอร์โมนแคลซิโตนิน ( calcitonin ) หลั่งจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ลดระดับความเข้มข้นของแคลเซียม

8.ช่วยในการขนส่งสารอาหาร  แคลเซียมมีส่วนให้การเคลื่อนไหวของสารอาหารทั่วเยื่อหุ้มเซลล์ง่ายขึ้น

แหล่งอาหารธรรมชาติของแคลเซียม : นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ผักใบเขียวรวมทั้ง ผักโขม น้ำส้ม ธัญพืช หอยนางรม ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ถั่วเขียว

ผลข้างเคียงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

1.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เพศชายที่รับประทานแคลเซียม ปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมทุกวัน จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20% จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม 

มีความเป็นไปได้ว่า แคลเซียมสร้างขึ้นในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ อาจมีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในบางคน

แคลเซียมหรือหินปูน อาจเกาะอยู่ผนังหลอดเลือด ลิ้นหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจ  ที่ควรระวังคือ หินปูนอาจเกาะผนังหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง และจะเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการของโรคหัวใจนานหลายปี 

จากการศึกษาพบว่า  ภาวะแคลเซี่ยมเกาะที่หลอดเลือดนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน

มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย แต่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราช้ากว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเกิดโอกาสเสี่ยงได้ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง 

ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การเสริมแคลเซียมมากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่ผู้สูงอายุ 

แมกนีเซียมเป็นกุญแจสำคัญในการดูดซึมของร่างกายที่เหมาะสม หากเรากินแคลเซียมมากเกินไป โดยไม่มีแมกนีเซียม วิตามินดีและวิตามิน K2เพียงพอ แคลเซียมส่วนเกินจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ และอาจจะก่อให้เกิดการกลายเป็นหินปูนของหลอดเลือดแดง ที่นำไปสู่โรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อนี้ควรตระหนักอย่างยิ่งค่ะ

2.แคลเซียมมีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้สูญเสียการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยลำไส้แทบไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เหตุผลนี้ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวช้าผิดปกติ เป็นที่มาของอาการท้องผูกเวลารับประทานแคลเซียม นั่นเอง แคลเซียมบางยี่ห้อ ไม่ว่าจะดื่มน้ำเพิ่มเป็นโอ่งหรือรับประทานผักทั้งสวน ก็ไม่อาจแก้ไขจุดนี้ได้ค่ะ
3.ระดับแคลเซียมที่สูง มีผลทำให้ปัสสาวะบ่อย

ทุกคนต้องการแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พอถึงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศ ( เอสโตรเจน ) ที่เกี่ยวข้องการเพิ่มการสะสมแคลเซียมเข้าสู่กระดูกจะหมดหน้าที่ทันที จึงเป็นที่มาของกระดูกพรุนไปจนถึงกระดูกผุ โอ๊ย!! น่ากลัวแท้

เมื่อขาดเอสโตรเจน ( estrogen ) ร่างกายจะไม่มีตัวช่วยยับยั้งกระบวนการสลายกระดูกทำให้อัตราการสลายตัวของเนื้อกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรกของการหมดประจำเดือน 

ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ไม่ค่อยมีแสงแดด ซึ่งแสงแดดอ่อนๆจะมีวิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมและสะสมเกลือแร่ในกระดูก สตรีวัยทองจะมีภาวะกระดูกพรุน เป็นอันดับต้นๆเชียวนะคะ

นอกเหนือจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแคลเซียมแล้ว ยังมีฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ( parathyriod hormone )มีหน้าที่ทำให้ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับของฟอสเฟต ( phosphate ) ที่กระดูกไต และลำไส้เล็ก เพิ่มกระบวนการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก และยับยั้งกระบวนการสร้างกระดูก 

ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการดูดกลับของแคลเซียมที่ไต ทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น กระตุ้นการขับฟอสเฟต ( phosphate ) ออกไปกับปัสสาวะ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนเร่งอัตราการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่ลำไส้เล็กโดยการทำงานร่วมกับวิตามินดี

ถ้ามีฮอร์โมนนี้น้อยเกินไปจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ การดูดซึมแคลเซียมกลับที่ไตลดน้อยลง จะทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อไวต่อสิ่งเร้า มีอาการชาตามมือเท้า กล้ามเนื้อหดรัดตัว เกร็ง เป็นตะคริวที่มือและเท้า   ชักกระตุก ( tetany ) บริเวณหน้า ปอดไม่ทำงาน และเสียชีวิตได้ 

ใครที่เป็นตะคริวบ่อยๆ ควรรับประทานแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติ เช่น ปลาฉิ้งฉ้าง 100 กรัม ให้แคลเซียมมากถึง 537 mg หรือ นม UHT 200 ml.มีแคลเซียม 240 mg เต้าหู้ 1 ก้อน มีแคลเซียม 240 mg ดูนะคะ

หากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป เช่น เกิดเนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์ จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสเฟตต่ำ มีผลทำให้เกิดนิ่วที่ไต กระดูกเปราะบางได้ เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมที่กระดูกมาก

มาถึงตอนท้ายนี้ แป้งรู้แล้วว่า ควรกินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติดีที่สุด ไม่เสี่ยงเป็นริดสีดวงทวารจากอาการท้องผูก ไม่เป็นนิ่วในไตแถมมีภาวะเสี่ยงจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอีก ถึงแม้จะมีเปอร์เซนต์มากน้อยแค่ไหน แป้งไม่ขอเสี่ยงหรอกค่ะ




ที่มา :
www.health.havard.edu>harvard health Blog
www.livestrong.com>food and drink
https://th.wikipedia.org>wiki>ออกซาเลต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

14 สัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาสมดุลจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหาร

• มีอาการระบบทางเดินอาหารผิดปกติ หรือลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและท้องผูก • มีปัญหาไมเกรนหรือนอนไม่หลับ ...

บทความยอดนิยม