บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ออกซาเลต(Oxalate)ในผักใบเขียวกับการเกิดนิ่วในไต

 
ในโลกปัจจุบัน เราจะพบว่าการบริโภคผักและผลไม้เป็นสิ่งจําเป็นสำหรับคนที่อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง(ยกเว้นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง)

ผักใบเขียว ธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว เป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพมาช้านาน อาหารส่วนใหญ่ที่มีออกซาเลต(Oxalate)นั้นดีต่อสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากอาหารหลายชนิดเหล่านี้จัดเป็นซุปเปอร์ฟู้ด(Super food)ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ วิตามิน
ไฟโตนิวเทรียนซ์และสารอาหารอื่นๆ ที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย

คนที่มีสุขภาพดีส่วนใหญ่ สามารถบริโภคอาหารที่อุดมด้วยออกซาเลตได้โดยไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่มีการทํางานของลําไส้แปรปรวนอาจต้องจำกัดการบริโภค

เรามาทำความรู้จักออกซาเลต(Oxalate)กันดีกว่านะคะ

ออกซาเลต(Oxalate)พบได้ในพืชเกือบทุกชนิด แต่พืชบางชนิดมีปริมาณสูงมาก ในขณะที่บางชนิดก็มีปริมาณน้อยมากเช่นกัน เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ออกซาเลตหรือกรดออกซาลิก(Oxalic acid)เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบในพืชหลายชนิด รวมถึงผักใบเขียว  ผลไม้ โกโก้ ถั่ว และเมล็ดพืช

แคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) หรือเรียกง่ายๆว่า ผลึกจิ๋วในพืช คือการรวมตัวกันระหว่างกรดออกซาลิก (Oxalic acid) กับแคลเซียม (calcium) จนกลายเป็นผลึกอนุภาคขนาดเล็กที่มีทั้งอยู่เดี่ยว ๆ และรวมกันเป็นกลุ่มภายในเนื้อเยื่อของพืช

การสร้างผลึกของพืชมาจากกลไกการควบคุมทางชีวภาพ กล่าวคือ เมื่อพืชมีปริมาณแคลเซียมในกระบวนเมตาบอลิซึม (metabolism) มากเกินไป แคลเซียมที่เกินออกมาจะถูกดึงมาเก็บไว้ในเซลล์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือน Calcium Sink(ถังเก็บแคลเซียมสำรอง)เพื่อรอการนำไปใช้อีกครั้งเมื่อพืชต้องการ และระหว่างรอการนำไปใช้นั้น ทำให้เกิดการรวมตัวของแคลเซียมจนกลายร่างเป็น “ผลึกจิ๋วในพืช”

ออกซาเลตลดการดูดซึมแร่ธาตุได้
ออกซาเลตสามารถจับกับแร่ธาตุในลําไส้และป้องกันไม่ให้บางส่วนถูกดูดซึม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับไฟเบอร์ ตัวอย่างเช่น ผักโขมมีแคลเซียมและออกซาเลตสูง ซึ่งป้องกันไม่ให้แคลเซียมจํานวนมากถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการรับประทานไฟเบอร์และออกซาเลตร่วมกัน  จะช่วยขัดขวางการดูดซึมของสารก่อนิ่ว

ออกซาเลตอาจทําให้เกิดนิ่วในไต
โดยปกติแคลเซียมและออกซาเลตจํานวนเล็กน้อยจะมีอยู่ในทางเดินปัสสาวะ แต่ยังคงละลายและไม่ก่อให้เกิดปัญหา บางครั้งก็จับกันเป็นผลึก แต่ในบางคนผลึกจิ๋วเหล่านี้สามารถนําไปสู่การก่อตัวของนิ่วในไตได้

สารแคลเซียมออกซาเลตในผลึกพืช เป็นองค์ประกอบทางเคมีที่มีมากที่สุดในก้อนนิ่วที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ

สรุปคือ หากผักที่เรากินเข้าไปมีผลึกแคลเซียมออกซาเลตแฝงตัวอยู่ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

ในความเป็นจริง นิ่วที่มีขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ แต่นิ่วที่มีขนาดใหญ่ อาจทําให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน และมีเลือดปนในปัสสาวะเมื่อเคลื่อนผ่านระบบทางเดินปัสสาวะ

ถึงแม้ว่าจะมีนิ่วในไตชนิดอื่น แต่ประมาณ 80% ประกอบด้วยแคลเซียมออกซาเลต ยิ่งระดับออกซาเลตสูงเท่าไร ความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตประเภทนี้จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

นิ่วในไต เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี
เมื่ออายุ 70 ปี ผู้ชาย 1 ใน 5 คนและผู้หญิง 1 ใน 10 คนจะเป็นโรคนิ่วในไต

หากมีอาการปวดหลัง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง ปวดบิดท้องรุนแรง รับประทานยาแก้ปวดก็ไม่บรรเทา ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา เพราะหากทิ้งไว้นานอาจเกิดการติดเชื้อจนเนื้อเยื่อไตเสีย ไตเสื่อม และเกิดไตวายเรื้อรังได้
ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ที่เป็นนิ่วในไต อาจได้รับคําแนะนําให้ลดการบริโภคอาหารที่มีออกซาเลตสูง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากครึ่งหนึ่งของออกซาเลตที่พบในปัสสาวะ ผลิตโดยร่างกายมากกว่าที่จะดูดซึมจากอาหาร(ร่างกายมนุษย์สามารถผลิตออกซาเลตได้ด้วยตัวเองหรือได้รับจากอาหาร)

สาเหตุที่ทําให้เกิดการสะสมของออกซาเลต

1.การรับประทานยาปฏิชีวนะหรือมีประวัติเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร สามารถเพิ่มระดับออกซาเลตในร่างกายได้เช่นกัน ในคนปกติ สารประกอบเหล่านี้จะถูกกําจัดในการขับถ่ายหรือปัสสาวะ

แบคทีเรียที่ดีในลําไส้จะช่วยกําจัดออกซาเลต โดยออกซาเลตบางส่วนที่เรากินมักถูกทําลายโดยแบคทีเรียชนิดดีในลําไส้ก่อนที่จะจับกับแร่ธาตุได้ เมื่อระดับของแบคทีเรียเหล่านี้ลดลง ปริมาณออกซาเลตที่สูงขึ้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จนเกิดปัญหาสุขภาพได้(อ่านมาถึงตรงนี้ โปรไบโอติกส์รับจบอีกแล้ว)

2.อาหารที่มีวิตามินซีสูง สามารถเพิ่มระดับออกซาเลตของร่างกายได้ ซึ่งวิตามินซีจะเปลี่ยนเป็นออกซาเลตที่ปริมาณมากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่วิตามินซีชนิดเอสเตอร์(Ester-c)จะถูกสกัดความเป็นกรดออกไปจนหมดสิ้น จึงปลอดภัยกว่าวิตามินซีสังเคราะห์(Ascorbic acid)

ผลึกจิ๋วในพืชอาจมีความน่ากลัวก็จริง แต่เราสามารถลดปริมาณแคลเซียมออกซาเลตได้ดังนี้

1.การต้มผัก สามารถลดปริมาณออกซาเลตได้ 30-87% ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก

2.ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น อย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน หากมีนิ่วในไต ให้ดื่มให้เพียงพอเพื่อผลิตปัสสาวะอย่างน้อย 2.5 ลิตรต่อวัน

3.รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอเพราะแคลเซียมจับกับออกซาเลตในลําไส้และลดปริมาณที่ร่างกายดูดซึม ควรพยายามบริโภคอย่างน้อย 800–1,200 มก. ต่อวันเทียบเท่านมสด 3-4 แก้ว

หมายเหตุ
อาหารที่มีแคลเซียมสูงและออกซาเลตต่ํา เช่น
ชีส นม เนยแข็ง โยเกิร์ตรสธรรมชาติ(plain yogurt) ปลากระป๋องที่มีกระดูก ผักกาดฮ่องเต้(ผักกวางตุ้งไต้หวัน) บรอกโคลี

อาหารที่มีออกซาเลตสูงได้แก่ ผักโขม ผักปวยเล้ง ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง อัลมอนด์ มันฝรั่ง หัวบีท จมูกข้าวสาลี  ราสเบอรี่ ผงโกโก้ มันเทศ ถั่วลิสง ผักกาดเขียว(มักใช้ในการผลิตผักดอง เช่น ผักดองกระป๋องตรานั่นโน่นนี่ หากเอามาผัดเหมือนผักกาดขาว รสชาติไม่อร่อยเพราะมีรสขม)ผักสวิสชาร์ด(Swiss chard)เป็นพืชตระกูล
เดียวกับบีทรูท ใบชะพลู หน่อไม้ ชา ฯลฯ

ทั้งหมดทั้งมวลเราจะเห็นว่า อาหารหลายชนิดต่างมีออกซาเลต แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องหลีกเลี่ยงทุกอย่าง การรับประทานอาหารที่สมดุลด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมในแต่ละวัน รวมไปถึงการรับประทานผักให้หลากหลาย ไม่รับประทานผักซ้ำๆเพื่อลดการสะสมของผลึกจิ๋วในพืช จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด นำมาซึ่งการมีสุขภาพดีอย่างแท้จริง

อาจจะดูเหมือนว่า มีความยุ่งยากในการเลือกอาหารการกิน
อย่าลืมว่า ชีวิตคือการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ยังไงการป้องกันดีกว่าการรักษาอย่างแน่นอน ดีกว่าต้องใช้เวลาครึ่งวันในโรงพยาบาลเอกชนหรือทั้งวันในโรงพยาบาลรัฐเพื่อรอพบแพทย์ ซึ่งตอนนั้นความเจ็บป่วยได้เกิดขึ้นแล้วนะคะ









ที่มา :

Foods High in OxalatesWebMDhttps://www.webmd.com › ... › Reference

What Is a Low Oxalate Diet?Healthlinehttps://www.healthline.com › health

Oxalate (Oxalic Acid): Good or Bad?Healthlinehttps://www.healthline.com › nutrition

ผลึกในพืช สถานีบูรพาhttps://w

นิ่วในไต อันตราย สังเกตอาการรีบรักษา อย่านิ่งนอนใจnakornthon hospitalhttps://www.nakornthon.com › article › detail › นิ่วในไ...

นิ่วในไต (Kidney stones) อาการ ปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัย และ ...MedPark Hospitalhttp://www.medparkhospital.com › disease-and-treatment

14 สัญญาณเตือนว่าอาจมีปัญหาสมดุลจุลินทรีย์ ในระบบทางเดินอาหาร

• มีอาการระบบทางเดินอาหารผิดปกติ หรือลำไส้แปรปรวน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและท้องผูก • มีปัญหาไมเกรนหรือนอนไม่หลับ ...

บทความยอดนิยม